ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 28 ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 28 ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.ค. 2565

| 953 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 28  ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา  

          Happy Birthday เป็นคำอวยพรวันเกิดที่ใช้กันมากที่สุด แถมยังมีเพลงประกอบที่ใคร ๆ ก็ร้องได้ ช่วงโควิด-19 ระบาด มีคำแนะนำให้ล้างมือนานเท่ากับการร้องเพลง Happy Birthday วนไป 2 รอบ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากการถวายพระพรให้ทรงพระเจริญแล้ว ยังมีคำถวายพระพรสำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี คือ ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา และทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี แปลว่า ขอให้องค์มหาราชา (มหาราชินี) มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

          ทีฆามีความหมายว่ายาวนาน ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธาน พระสงฆ์จะ “ถวายอดิเรก” ก่อนกลับวัด การถวายอดิเรกคือการถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงมีพระชนมายุยืนนานและปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงให้ลุล่วงด้วยดี วรรคหนึ่งมีใจความว่า ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ และโดยที่เป็นพรพิเศษสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ผู้ร่วมงานจึงไม่ต้องพนมมือขณะที่พระท่านสวด คำว่าทีฆา เบงกาลีใช้ dirgho (ทีรโฆ) ซึ่งใช้ขยายความได้ทุกอย่าง สระเสียงยาว แม่น้ำสายยาว ระยะเวลายาวนาน หรือหาดทรายยาว บังกลาเทศมีหาดทรายที่ยาวที่สุดในโลกที่ Cox’s Bazar ในภาคจิตตะกองทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งยังคงความเป็นธรรมชาติไว้ได้มาก

          ทีฆายุมักสะกดผิดเป็นฑีฆายุ อาจเป็นเพราะไปจำว่ามีอักษรหัวหยักอยู่คือ ฆ แต่ไปทำให้เป็นหัวหยักทั้ง ฑ และ ฆ ซึ่งไม่ถูกต้อง และคงเป็นเพราะเหตุผลเดียวกันนี้ คนเลยสะกด “ทูต” เป็น “ฑูต”

          วันเกิดในภาษาเบงกาลีคือ janmadina มาจาก janma (เกิด) + din (วัน) ภาษาไทยมีใช้ในคำว่า     ชนมายุ ชนมพรรษา และชนมวาร เป็นต้น ราชาศัพท์ของไทยใช้วันพระราชสมภพ ภาษาเบงกาลีไม่ใช้สมภพกับคนแต่ใช้กับเหตุการณ์ในความหมายว่าเป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม อะไรที่เป็นไปไม่ได้ถือว่า “อสมภพ” คือไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าวง The Impossible ของเรามีแผนจะขยายตลาดสู่บังกลาเทศก็ขอเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นวง “อสมภพ” นะครับ จะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย ๆ

          การที่เราสามารถผลักดันอะไรให้เกิดขึ้นได้ แสดงว่าเข้าใกล้ความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ความสำเร็จในภาษาเบงกาลีมีใช้หลายคำ รวมทั้งสัมฤทธิและสิทธิ แต่คำว่าสิทธิในภาษาไทยส่วนใหญ่หมายถึงอำนาจอันชอบธรรม เช่น สิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ฯลฯ

         ไทยเราใช้สิทธิที่แปลว่าความสำเร็จกับชื่อคนหรือสถานที่มากกว่า เช่น พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ประจำมณฑลอีสาน ในสมัยรัชกาลที่ 5 นามทรงกรมของท่านแปลว่าความสำเร็จทั้งหลายเป็นไปตามที่ต้องการ โรงกษาปณ์แห่งแรกของสยามที่รัชกาลที่ 4 ทรงจัดตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวังชื่อโรงกระสาปณ์สิทธิการ บางครั้งใช้ในสมณศักดิ์พระ อาทิ พระเทพสิทธิเวที แปลว่านักปราชญ์ที่ประสบความสำเร็จ เวทีไม่ได้เอาไว้ชกมวยหรือประกวดนางงานอย่างเดียว แต่แปลว่านักปราชญ์ก็ได้ บางคนไม่รู้ไปเปลี่ยนให้พระท่านเป็นเทวี กลายเป็นพระมหาเทวีเจ้า ความหมายไปคนละทางกู่ไม่กลับเลยครับ

234101

หาด Cox's Bazar เป็นหาดทรายที่ยาวที่สุดในโลก
ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์

.........................................................................