ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 31 เบงกอลแผ่นดินทอง (ตอนที่ 2)

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 31 เบงกอลแผ่นดินทอง (ตอนที่ 2)

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2565

| 869 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 31  เบงกอลแผ่นดินทอง (ตอนที่ 2)

          ตอนที่แล้วได้เกริ่นนำเกี่ยวกับเพลง Amar Sonar Bangla ซึ่งเป็นเพลงชาติบังกลาเทศ คราวนี้มาดูกันว่า เพลงนี้มีเนื้อหาเข้าถึงความเป็นเบงกอลมากแค่ไหน คำแปลภาษาอังกฤษได้มาจากวิกิพีเดีย ยกเว้นบางส่วนที่แก้ไขตามคำแปลของกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ

          My Golden Bengal

          My golden Bengal, I love you.

          Forever thy skies, thy air set my heart in tune as if it were a flute,

          O, mother! The fragrance from your mango groves in Falgun month drives me wild with joy,

          Ah, what a thrill!

          O, mother! In Ogrohayon time I have seen sweet smiles all over the full blossomed fields of paddy.

 

          What beauty, what shades, what affection, what tenderness!

          What a quilt hast thou spread at the feet of banyan trees and along the bank of every river,

          Oh mother mine, words from thy lips are like nectar to my ears.

          Ah, what a thrill!

          If sadness, O mother! casts a gloom on your face, my eyes are filled with tears!

 

          เบงกอลแผ่นดินทอง

          รักเบงกอลแผ่นดินทองของข้า

          สายลม ท้องฟ้า พาสุขสันต์

          ราวกับใจเป็นขลุ่ยทิพย์บรรเลงพลัน

          หอมมะม่วงที่ชวนฝันมาแต่ไกล

 

          โชยจากสวนในเดือนสิบเอ็ดแห่งผลคุนี

          อกข้านี้รัญจวนหวนเพ้อหา

          ล่วงเดือนแปดรวงทองเต็มท้องนา

          เห็นแต่หน้ามีรอยยิ้มสำราญใจ

 

          ช่างแสนงาม เสน่ห์ละมุน อบอุ่นสนิท

          ดุจมีผ้าผืนวิจิตรคลุมทุกหน

          ปูลาดใต้ไทรใหญ่ให้ชื่นกมล

          และริมฝั่งทุกสายชลห้วงธารา

 

          ยินเสียงมารดาที่แว่วหวาน

          เสนาะปานน้ำผึ้งคะนึงหา

          แม้นความเศร้ามาเยือนท่านสักครา

          ดวงตาข้านองชลนัยน์

 

          ฉบับภาษาไทยเป็นเพียงการถอดความ จึงไม่ใช่การแปลอย่างเที่ยงตรงเท่าใดนัก ในเนื้อเพลงได้กล่าวถึงมารดาไว้หลายแห่ง ซึ่งมีนัยทั้งแม่ของเราและแผ่นดินแม่ เพราะผู้ประพันธ์น่าจะตั้งใจให้ความรักที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเช่นเดียวกับความรักที่เรามีต่อมารดา ส่วนผ้าที่ปูใต้ต้นไทรก็อาจเป็นสัญลักษณ์แทนความอบอุ่นในแผ่นดินเกิด

         ในต้นฉบับเบงกาลี วรรคที่น่าสนใจคือ “What beauty, what shades, what affection, what tenderness!” ซึ่งใช้คำว่า sobha (โสภา), chaya (ฉายา ซึ่งหมายถึงร่มเงา), sneha (เสน่หา) และ maya (มายา) ซึ่งล้วนเป็นคำที่มีในภาษาไทย เช่น sneha แปลว่ารักใคร่เหมือนกัน (ดูตอนที่ 18 รัก โลภ โกรธ หลง)

          ในภาษาไทย ฉายามี 2 ความหมาย คือ (1) ร่มเงา และ (2) รูปหรือโฉม เช่น ราชาศัพท์ของถ่ายรูปคือฉายพระรูป และช่างภาพอาชีพคนแรกที่เป็นชาวสยามเคยมีบรรดาศักดิ์ว่าขุนฉายาสาทิศลักษณ์

          ตรงคำว่า paddy field รพินทรนาถใช้คำว่า ksete (เกษตร) ซึ่งหมายถึงท้องทุ่ง จะเป็นทุ่งนาก็ได้ ทุ่งข้าวโพดก็ได้ ในเรื่องมหาภารตยุทธการสู้รบที่นองเลือดเกิดขึ้นในกุรุเกษตร แปลว่าทุ่งของพวกกุรุ ซึ่งเป็นวงศ์หนึ่งของราชวงศ์ภรตที่ญาติพี่น้องขัดแย้งจนทำสงครามกัน ส่วนกิจกรรมเพาะปลูกทำไร่ไถนาภาษาเบงกาลีใช้ krsi นอกจากนี้ การที่เนื้อเพลงบรรยายว่าหอมกลิ่นจากสวนมะม่วง น่าจะหมายถึงกลิ่นช่อมะม่วงที่เริ่มผลิดอกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งตรงกับเดือนผลคุนีพอดี

          คำแปลภาษาอังกฤษของกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศแปลเดือนผลคุนีว่า in spring และแปลเดือนอครหายณีว่า in autumn คงเพื่อให้ชาวต่างประเทศเข้าใจง่ายขึ้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าการคงชื่อเดือนเบงกาลีไว้จะช่วยรักษาบรรยากาศเบงกอลได้มากกว่า อีกทั้งในภาษาไทยก็มีชื่อนักษัตรที่ตรงกับชื่อเดือนเหล่านี้ จึงเลือกใช้คำแปลภาษาอังกฤษฉบับข้างต้น

          รพินทรนาถประพันธ์เพลงนี้เมื่อปี 2448 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษแบ่งรัฐเบงกอลเป็นสองส่วนตามการนับถือศาสนาของประชากร เพื่อลดทอนกระแสชาตินิยมต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ อัสสัมและเบงกอลตะวันออกมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ส่วนเบงกอลตะวันตกมีประชากรเป็นฮินดู รพินทรนาถจึงต้องการแต่งเพลงที่สามารถผสานชาวเบงกอลทั้งสองฝั่งให้เป็นหนึ่งเดียว

          Sonar Bangla ไม่ได้เป็นแต่เพลงชาติของชาวบังกลาเทศเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังหมายถึงนโยบายของรัฐบาลในการสร้างชาติให้รุ่งเรืองสมกับเป็นแผ่นดินทองตามวิสัยทัศน์ของ Sheikh Mujibur Rahman ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ เหมือนที่เรามักจะเรียกประเทศไทยว่าเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ

248378

ต้นไทร (banyan tree) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus benghalensis ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเบงกอล
ภาพโดย F.A.M. Huq หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการ CIRDAP

230801

แม่น้ำหลายร้อยสายในบังกลาเทศเป็นทั้งแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคม และส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คน โรงเผาอิฐจำนวนมากตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพื่อใช้ดินริมตลิ่งมาทำอิฐและเพื่อความสะดวกในการขนส่ง โรงเผาอิฐผิดกฎหมายหลายแห่งเป็นแหล่งมลพิษจากควันในเตาเผา
ภาพโดยบุศรา แสดงฤทธิ์

248389

การปลูกข้าวในบังกลาเทศมี 2 ช่วงหลัก คือ หน้าน้ำ (Aman) ระหว่างเมษายนถึงพฤศจิกายน และหน้าแล้ง (Boro) ระหว่างพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม โดยข้าวส่วนใหญ่ผลิตได้ในหน้าแล้ง ข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ของบังกลาเทศคือข้าว Chinigura ซึ่งมีกลิ่นหอมและมีขนาดเมล็ดข้าวเล็กกว่าพันธุ์อื่น
ภาพโดยศิวพล กิตติวงศากูล

.....................................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ