ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 12 เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 12 เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 เม.ย. 2565

| 8,589 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 12  เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป

          “เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป ผ่านไปพร้อมใบไม้บาน ร่วงหล่นพริ้วปลิวลู่ลงทาง ดูใบไม้วางอ้างว้างเอกา” คราวก่อนพูดถึงวัน เดือน ปี แบบเบงกาลีไปแล้ว ครั้งนี้ขอต่อด้วยเรื่องของ ฤดูกาล เลยขึ้นต้นด้วย เพลงเหมันต์ที่ผ่านพ้นไป เพลงรักอมตะอีกเพลงหนึ่งสำหรับแฟน ๆ ยุคเทปคาสเซ็ท (ที่วัยในปัจจุบันน่าจะผ่านพ้นไปหลายเหมันต์แล้ว) เหมันต์สำหรับคนไทยคือฤดูหนาว อากาศเย็นสบาย บรรยากาศตามยอดดอยแสนจะโรแมนติก แต่ในภาษาเบงกาลี เหมันต์หรือ hemonto kal เป็นช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ถือเป็นปลายฤดูใบไม้ร่วง

          บังกลาเทศไม่มีฤดูใบไม้ร่วงที่ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีแดง แบบในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ แต่บริเวณภาคเหนือของอินเดีย ถิ่นกำเนิดของภาษาบาลีสันสกฤตนั้นอยู่เชิงเขาหิมาลัย จึงพอจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลจนต้องบัญญัติศัพท์สำหรับแต่ละฤดู และภาษาเบงกาลีได้รับมาใช้ต่อ โดยมีคำเรียกฤดูกาลต่าง ๆ ถึง 6 ฤดู คือ karom kal (ฤดูร้อน) barsha kal (ฤดูฝน) sharot kal (ฤดูใบไม้ร่วง) hemonto kal (ฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย) sheet kal (ฤดูหนาว) และ basanto kal (ฤดูใบไม้ผลิ)

          คนไทยมักเรียกหน้าฝนแบบภาษากวีมีระดับขึ้นมาหน่อยว่า วสันตฤดู แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นจะเห็นว่า คนเบงกาลีใช้วสันต์สำหรับฤดูใบไม้ผลิ ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม แต่ทำไมไทยเราถึงใช้คำนี้กับหน้าฝน ไม่ใช้พรรษา ซึ่งแปลว่าหน้าฝนแบบตรงตัว ไม่ต้องกลับหน้ากลับหลัง ผู้เขียนยังค้นไม่พบความเป็นมา แต่เราก็ใช้พรรษา (barsha) กับการจำพรรษาในหน้าฝนของพระสงฆ์ตรงตามความหมายเดิม และเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

          สำนักงานราชบัณฑิตยสภาอธิบายว่า คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (บาลี) กล่าวถึงฤดูในประเทศอินเดียว่า แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภาคตะวันออกและภาคใต้มี 3 ฤดู คือ ร้อน ฝน หนาว และภาคเหนือมี 6 ฤดู คือ หนาว (เหมันต์) หมอก (สิสิร) ใบไม้ผลิ (วสันต์) ร้อน (คิมหันต์) ฝน (วัสสานะ) และใบไม้ร่วง (สารท) ดังนั้น คำที่ตรงกับหน้าฝนมากกว่าคือวัสสานะ ซึ่งสมัยก่อนเคยมีการใช้ในเอกสารราชการด้วย เช่น “วันที่ 3 พฤศจิกายน  พระพุทธศักราช 2457 เปนวันหมดเขตร์วัสสานฤดู ย่างเข้าเหมันตฤดู ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จทรงจัดการเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร”

          คนไทยนำคำว่า “สารท” หรือ “ศารท” มาเรียกงานบุญประจำปีเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกเหนือ ขนมที่นิยมทำในเทศกาลนี้จึงเรียกว่ากระยาสารท นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “ศารทวิษุวัต” หรือ autumn equinox ซึ่งตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรพอดี ทำให้กลางวันเท่ากับกลางคืน ทางดาราศาสตร์เรียกว่าจุดราตรีเสมอภาค

          คำว่าฤดูในภาษาเบงกาลีมีทั้ง ritu และ kal ภาษาไทยเอามารวมกันเป็นฤดูกาล แต่ในเบงกาลีทั้งสองคำมีที่ทางของตัวเอง ไม่ได้มาอยู่ด้วยกัน

Konstanz

คนบังกลาเทศถือว่าดอกทองกวาวซึ่งบานในเดือนมกราคมเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ แต่ในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ฤดูใบไม้ผลิหรือ “วสันตกาล” เป็นช่วงที่มีดอกไม้หลากชนิดเบ่งบานโดยเฉพาะทิวลิป เช่นที่เกาะ Mainau ประเทศเยอรมนี
ภาพโดยพนม ทองประยูร

209342

ยามฤดูใบไม้ร่วงหรือ “ศารทกาล” ต้นไม้ในเอเชียใต้ไม่ได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสีแดงเหมือนในเขตเมืองหนาว แม้แต่ที่ Poon Hill ในเนปาลซึ่งเป็นภูเขาก็ยังไม่พบใบไม้เปลี่ยนสี เพราะน่าจะขึ้นอยู่กับชนิดของพรรณพืชด้วย
ภาพโดยพนม ทองประยูร

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ