วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,695 view

ประวัติสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา

 

            เมื่อบังกลาเทศแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถานในปี 2514 ไทยได้รับรองบังกลาเทศเป็นประเทศเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2515 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2515 หลังจากนั้นจึงได้มีการเจรจาเพื่อเปิดสถานเอกอัครราชทูตและแต่งตั้งเอกอัครราชทูต

ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูตในยุคแรก

          เอกอัครราชทูตไทยประจำบังกลาเทศคนแรกคือ พ.อ.สุรชิต กนิษฐานนท์ ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ เมืองเชียงตุง ได้ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดีบังกลาเทศเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2516 ในขณะนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังไม่มีที่ทำการ แต่ได้เช่าห้องหมายเลข 521 โรงแรม Purbani International[1] เป็นที่ทำการชั่วคราว และข้าราชการได้พักในโรงแรมด้วย โรงแรมนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ใกล้กับเมืองเก่าของธากา       เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นทำเลที่สะดวกในการติดต่อประสานงาน โดยเฉพาะในช่วงแรกที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังไม่มีรถยนต์ประจำสำนักงาน[2]

สอท._1

ห้องหมายเลข 521 ในปัจจุบัน ซึ่งโรงแรมไม่ได้ให้แขกเข้าพักแล้ว

แต่ใช้เป็นห้องเก็บของ

            ในเวลาต่อมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เช่าบ้านชั้นเดียวหลังหนึ่งในเขต Gulshan เป็นที่ทำการ ปัจจุบัน รื้อถอนไปแล้วและกลายเป็นอาคารสำนักงาน[3] ต่อมา ได้ย้ายไปเช่าบ้านเลขที่ 21 Block-B ถนน 16 ในเขต Banani เป็นที่ทำการตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2519 ในอัตราเดือนละ 10,000 ตากา และเช่าต่อเนื่องจนถึงปี 2529 ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก ประตูหน้าต่างทำด้วยไม้เนื้ออ่อนถูกปลวกและมอดกัดแทะอยู่เสมอ และยังถูกร้องเรียนจากเพื่อนบ้านเนื่องจากมีประชาชนมาติดต่อขอรับการตรวจลงตราจำนวนมากจนเกิดความพลุกพล่านในบริเวณนั้น

           หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ย้ายไปเช่าอาคารอีก 3 หลัง หลังแรกอยู่ถนน 62 ในเขต Gulshan หลังที่สองเป็นอาคารมุมถนน 58 ตัดกับถนน 59 ในเขต Gulshan[4] โดยไม่ทราบช่วงปีที่แน่นอน แต่อย่างเร็วที่สุดคือเมื่อปี 2534 ในช่วงที่เอกอัครราชทูตวิชัย วรรณสิน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต และหลังที่สามคือบ้านเลขที่ 14 ถนน 11 ในเขต Baridhara ซึ่งเป็นเขตเดียวกับที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตฯ ในปัจจุบัน

           ส่วนทำเนียบเอกอัครราชทูต มีข้อมูลเบื้องต้นว่า เคยมีการเช่าบ้าน 3 หลัง เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต หลังแรกตั้งอยู่ถนน 18 ในเขต Banani หลังที่สองอยู่เลขที่ 8 ถนน 62 ในเขต Gulshan และหลังที่สามอยู่ถนน 71

           ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2520 จนถึงปี 2530 ซึ่งน่าจะเป็นระยะที่เช่าบ้านหลังแรก ค่าเช่าบ้านมีอัตราเดือนละ 14,000 ตากา และเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ตากา ภายใน 9 ปี โดยเอกอัครราชทูตนิรันดร์ ภาณุพงศ์รายงานว่า ห้องครัวคับแคบ ไม่สะดวกในการเตรียมอาหารเพื่อจัดเลี้ยงรับรอง แต่การหาบ้านหลังใหม่ในเขต Gulshan และ Banani ซึ่งเป็นเขตสถานทูตและองค์การระหว่างประเทศมีข้อจำกัดเพราะมีบ้านที่เหมาะสมน้อยมาก ประกอบกับมีชาวต่างประเทศมาอาศัยในเขตนี้เพิ่มขึ้น บ้านเช่าจึงมีไม่เพียงพอ

สอท._2

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ระหว่างปี 2519 ถึงประมาณปี 2529 ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2528

การเช่าที่ดินเพื่อสร้างที่ทำการถาวร

              ในปี 2522 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เช่าซื้อที่ดิน 2 แปลงติดกันในเขต Baridhara Diplomatic Enclave พื้นที่ 4 bighas หรือเท่ากับ 3 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา เป็นเวลา 99 ปี จาก Dhaka Improvement Trust ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดสรรที่ดินของบังกลาเทศ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Rajdhani Unnayun Kartri Pakha หรือ Rajuk) โดยจ่ายค่าเช่าซื้อจำนวน 2 ล้านตากา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2522 และได้สร้างกำแพงรอบบริเวณพร้อมทั้งปรับที่ดินตั้งแต่ต้นปี 2523 อย่างไรก็ดี ฝ่ายบังกลาเทศไม่ได้ส่งร่างสัญญาเช่าที่ดินให้ไทยจนกระทั่งปี 2525

          ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2531 ได้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาอย่างต่อเนื่อง เพราะฝ่ายไทยเห็นว่าเนื้อหาของสัญญาไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่างประเทศและสิทธิของรัฐผู้ส่ง เช่น ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวโดยให้ค่าชดเชยตามแต่ผู้ให้เช่าจะกำหนด ผู้ให้เช่ามีสิทธิครอบครอบทรัพย์สินรวมทั้งอาคารและสิ่งปลูกสร้างทันทีที่บอกเลิกสัญญาเช่า

          ในระหว่างนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังคงเช่าบ้านเป็นที่ทำการและทำเนียบเอกอัครราชทูต แต่ก็ประสบปัญหาค่าเช่าที่สูงขึ้นทุกครั้งที่มีการต่อสัญญา โดยในปี 2531 ผู้ให้เช่าขอขึ้นค่าเช่าเป็นสองเท่าตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่สถานเอกอัครราชทูตทุกประเทศประสบเช่นเดียวกัน บางประเทศจึงยอมชำระค่าเช่าล่วงหน้าถึง 2 ปี เพื่อจูงใจให้เจ้าของลดค่าเช่า

           ในขณะเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังต้องดูแลรักษาที่ดินที่เช่าไว้ไม่ให้ทรุดโทรม ในเดือนมีนาคม 2531 เอกอัครราชทูตไชยา จินดาวงษ์ รายงานกระทรวงการต่างประเทศว่า ในขณะนั้นมีสถานเอกอัครราชทูต  8 ประเทศที่เช่าที่ดินในเวลาใกล้เคียงกับไทยและได้สร้างทำเนียบและที่ทำการแล้ว คือ เนปาล วาติกัน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย จีน ญี่ปุ่น และบัลแกเรีย อย่างไรก็ดี โดยที่กระทรวงการต่างประเทศมีโครงการก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งในระยะนั้น การก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา จึงชะลอไว้ก่อน

            การแก้ไขสัญญาเช่าที่ดินดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและมีการลงนามเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541         โดยเอกอัครราชทูตพิทยา พุกกะมาน เป็นผู้ลงนาม ในการนี้ ทางการบังกลาเทศได้ขยายสัญญาเช่าที่ดินให้ 99 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2541

            ในช่วงที่ยังไม่มีการก่อสร้างในที่ดินแปลงนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งพักผ่อนของคนไทยในบังกลาเทศ มีการก่อสร้างสนามเทนนิสและใช้เป็นสถานที่รับประทานอาหาร เพราะมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นทำให้บรรยากาศร่มรื่น

ที่ทำการหลังใหม่

ในปีงบประมาณ 2545 - 2547 กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติงบประมาณ 118,616,810.96 บาท เป็นค่าก่อสร้างและตกแต่งภายในสำหรับโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูต

สอท._3

  อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากาในปัจจุบัน

 

               อาคารที่ทำการมี 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 990.92 ตารางเมตร ทำเนียบเอกอัครราชทูตมี 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 1,639.04 ตารางเมตร ก่อสร้างโดยบริษัทชูจักร์ ตกแต่งภายในโดยบริษัทโจและทินกร ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2549 โดยนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และนาย Morshed Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศในขณะนั้น ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตฯ ติดถนนสามด้าน คือ ถนน Madani ถนน Park (มีอีกชื่อว่าถนนสีหมุนี) และถนน Progati Sarani ส่วนด้านทิศเหนือติดที่ดินของกาตาร์ที่ยังไม่มีการก่อสร้าง (ณ กันยายน 2564) สถานเอกอัครราชทูตในละแวกเดียวกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ปาเลสไตน์ จีน สหรัฐฯ สาธารณรัฐเกาหลี และตุรกี

แหล่งข้อมูล

  • เอกอัครราชทูตวิชัย วรรณสิน
  • นายชาจาฮาน เรซ่า ลูกจ้างท้องถิ่น
  • นายโมฮัมหมัด โรฮิชุดดิน ลูกจ้างท้องถิ่น
  • แฟ้มการเช่าที่ดินสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกองบรรณสารและห้องสมุด กระทรวงการต่างประเทศ)
  • ภาพถ่ายสถานเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2528 (โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกองบรรณสารและห้องสมุด กระทรวงการต่างประเทศ)

***************************

[1] สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียและฝรั่งเศสเคยตั้งสำนักงานชั่วคราวที่โรงแรมนี้เช่นกัน

[2] นายโมฮัมหมัด โรฮิชุดดิน ซึ่งเป็นลูกจ้างสถานเอกอัครราชทูตฯ ตั้งแต่เปิดทำการเล่าว่า ในช่วงแรก ๆ สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่มีรถยนต์ หากจำเป็นต้องใช้รถจะเช่าจากโรงแรม Purbani

[3] อยู่ใกล้กับตลาด Gulshan DCC Market

[4] บ้านทั้งสองหลังรื้อถอนไปแล้ว และกลายเป็นอาคารที่พักอาศัย