วันที่นำเข้าข้อมูล 8 เม.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 เม.ย. 2565
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 13 ลมฟ้าอากาศ
เมฆาลัยเป็นรัฐหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีชายแดนติดกับบังกลาเทศ ประชากรบางส่วนใช้ภาษาเบงกาลี ชื่อของรัฐนี้แปลว่า ที่อยู่ของเมฆ ในภาษาเบงกาลี มีศัพท์หลายคำที่ใช้เรียกธรรมชาติรอบตัวเรา โดยเป็นคำเดียวกับภาษาไทย
สายฟ้าคือ bajro หรือวัชระ เป็นอาวุธประจำกายของพระอินทร์ คำนี้ในภาษาไทยหมายถึงเพชรก็ได้ แต่ภาษาเบงกาลีหมายถึงสายฟ้าเท่านั้น เพชรของชาวเบงกาลีคือ hiraka พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์มีพระปรมาภิไธยเกี่ยวข้องกับวัชระหรือวชิระ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวชอยู่นั้น ฉายาของพระองค์คือวชิรญาณภิกขุ แปลว่าผู้มีความสามารถอันสว่างประดุจเพชร พระนามเดิมของรัชกาลที่ 6 คือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 10 คือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 10 เป็นรูปวชิราวุธเปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า การสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ในรัชกาลปัจจุบันมักจะมีคำว่าวชิรหรือวัชร เช่น พระพรหมวัชราจารย์ พระธรรมพัชรญาณมุนี พระราชวชิรญาณโกศล
ลมคือ bayu หรือวายุ นกวายุภักษ์ที่เป็นโลโกของธนาคารกรุงไทยแปลว่านกที่กินลม ส่วนหนุมานมีอีกชื่อว่าวายุบุตร หมายถึงบุตรของพระพายที่เป็นเจ้าแห่งลม กรมอุตุนิยมวิทยาใช้คำนี้บ่อย ๆ แต่เรียกว่าพายุ เป็นพายุไต้ฝุ่นบ้าง พายุดีเปรสชันบ้าง ภูมิภาคเอเชียใต้ไม่ใช้คำว่าไต้ฝุ่น วงการอุตุนิยมวิทยาเรียกพายุในระดับเดียวกับไต้ฝุ่นแต่เกิดในอ่าวเบงกอลว่าพายุไซโคลน ภาษาเบงกาลีใช้คำว่า ghurnibayu แยกเป็น ghurni (หมุน) และ bayu (ลม) รวมกันเป็นลมหมุน
คำที่น่าสนใจคือ akash ซึ่งเบงกาลีหมายถึงท้องฟ้า (sky) แต่ภาษาไทยหมายถึงก๊าซที่อยู่รอบตัวเราแต่มองไม่เห็น เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน และมีคำว่าชั้นบรรยากาศ (atmosphere) ที่หมายถึงอากาศที่อยู่สูงขึ้นไปเป็นชั้น ๆ แม้ท้องฟ้ากับชั้นบรรยากาศอยู่เหนือแผ่นดินขึ้นไปเหมือนกัน แต่ให้ภาพที่ต่างกัน เวลาพูดถึงท้องฟ้า เราจะนึกถึงฟ้าสีคราม มีเมฆลอยไปมา แต่พอพูดถึงชั้นบรรยากาศ เรานึกถึงอากาศที่อยู่สูงขึ้นไปมากจนเกือบจะถึงอวกาศที่ไม่เห็นสีสันอะไรแล้ว
Akash ยังหมายถึงสวรรค์ได้ด้วย คงเป็นเพราะคนสมัยก่อนเห็นว่าเหล่าเทวดานางฟ้าสมควรอยู่ในที่สูง เหาะเหินเดินอากาศกันได้ จึงจัดให้มีถิ่นที่อยู่ในอากาศ โดยหมายถึงสวรรค์ไปโดยปริยาย
ในภาษาเบงกาลี อวกาศคือ mahakash หรือมหากาศ หมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าท้องฟ้า อยู่สูงเลยขึ้นไปอีก คำว่าอวกาศ (abakash) เขาก็มีใช้ แต่มีความหมายว่า การพักร้อน (vacation) หรือการหยุดพัก นอกจากนี้ ยังมีคำว่า bisba อ่านว่า บิ-ชอ ซึ่งถ้าไปดูตัวสะกดแล้วจะถึงบางอ้อว่าคือวิศวะนั่นเอง เหตุที่วิศวะหมายถึงจักรวาลเพราะตามคติฮินดูในคัมภีร์พระเวท พระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างจักรวาลและสรรพสิ่ง ในยุคโบราณมาก ๆ พระวิศวกรรมจึงเป็นเทพระดับบิ๊ก แต่ถูกลดความสำคัญไปเมื่อมีการกำหนดให้พระพรหม พระวิษณุ และพระอิศวร เป็นเทพสูงสุดระดับซีอีโอ พระวิศวกรรมเลยกลายเป็นผู้บริหารระดับกลาง ๆ แทน อย่างไรก็ดี ชาวชมพูทวีปยังให้เกียรตินำชื่อท่านมาเรียกจักรวาลและมหาวิทยาลัย (bisbabidyalaya) โดยคำหลังน่าจะแปลงมาจาก university ในภาษาอังกฤษ
Dhaka University เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ ก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๖๔ อธิการบดี (chancellor) คือประธานาธิบดี ตามธรรมเนียมของประเทศในเครือจักรภพที่นิยมให้บุคคลสำคัญภายนอกมหาวิทยาลัยดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยมีหน้าที่ทางพิธีการเท่านั้น
ภาพโดย Finish Toju พนักงานขับรถสถานเอกอัครราชทูตฯ
Curzon Hall เป็นอาคารสำคัญของ Dhaka University มีสถาปัตยกรรมแบบโมกุลผสมยุโรป แต่เดิมถูกสร้างเพื่อเป็นศาลาว่าการเมือง ต่อมาถูกปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน
ภาพโดย Finish Toju พนักงานขับรถสถานเอกอัครราชทูตฯ
................................................
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ: วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี 9.00 - 13.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวีซ่ากรุณาติดต่อ
02-222291248
02-58813261
02-222264281
02-222264277
ในเวลาทำการ