ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 15 สาคร

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 15 สาคร

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 เม.ย. 2565

| 1,058 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 15  สาคร

           เบงกาลีมีศัพท์หลายคำสำหรับเรียกทะเล เช่น สมุทร สาคร สินธุ อรรณพ ชลธี แต่ที่ใช้แพร่หลายที่สุดคือสาคร ส่วนคำอื่น ๆ นั้น คนบังกลาเทศบอกว่ามีใช้ในงานประพันธ์ชั้นสูงเท่านั้น แม้แต่คนท้องถิ่นบางคนยังไม่รู้จักความหมายของหลายคำ

           อ่าวเบงกอล คือ Bangopasagara (บังโกปาสาคร) มาจาก บังค (คำวิเศษณ์ของคำว่าเบงกาลี) สนธิกับ อุปสาคร (อ่าว) “อุป” แปลว่า มีลำดับรองลงมา เช่น อุปราช อุปนายก ที่ใช้ในภาษาไทย คนเบงกาลีเลยให้อ่าวเป็น “ทะเลจูเนียร์” ในทำนองเดียวกัน ส่วนมหาสมุทรอินเดีย คือ Bharat Mahasagara (ภารตมหาสาคร) มหาสมุทรแปซิฟิกคือ Prashanta Mahasagara (ประศานตมหาสาคร) ชื่อจังหวัดสมุทรสาครจึงแปลว่าทะเลทั้งสองคำ เป็นเมืองทะเลยกกำลังสอง

          คนไทยเรามีของใช้อย่างหนึ่ง เรียกว่าขันสาคร เป็นขันขนาดใหญ่ทำด้วยสัมฤทธิ์และทองเหลือง ตัวขันเป็นทรงลูกมะนาวตัด ก้นขันมีเชิง ข้างขันทำเป็นรูปหน้าสิงโตปากคาบห่วงซึ่งใช้เป็นหูหิ้วข้างละหู ใช้บรรจุน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ หรือสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้อาบ สาครในที่นี้ไม่ใช่ทะเลแน่ ๆ แต่หมายถึงน้ำในความหมายที่กว้างออกไป เพราะคงไม่มีใครอุตริเอาน้ำทะเลมาทำน้ำมนต์ หรือตักมาให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้อาบให้เหนียวตัวเล่น

          กองทัพเรือบังกลาเทศมีคำขวัญว่า শান্তিতে সংগ্রামে সমুদ্রে দুর্জয়  (ศานติเต สงคราเม สมุทเร   ทุรชัย) แปลว่า ในยามสันติและยามสงคราม มีชัยทั่วท้องสมุทร ในกรณีนี้ไม่ได้ใช้คำว่าสาครแต่ใช้สมุทร

          ขึ้นมาบนบกกันบ้าง คำว่าแผ่นดินของเบงกาลีใช้ และ jami (ชามิ) คนไทยคุ้นเคยกับ “ภูมิ”อยู่แล้ว เพราะมีปรากฏในหลายคำ อาทิ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภูมิศาสตร์ ในมาเลเซียคนที่มีเชื้อสายมาเลย์ถือเป็นภูมิบุตรหรือบุตรของแผ่นดิน รัฐบาลมีนโยบายให้สิทธิพิเศษบางประการมากกว่าคนเชื้อชาติอื่นมาตั้งแต่ประมาณ 40-50 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมให้ชาวมาเลย์มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น

          ภาษาเบงกาลีเรียกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนว่า Bhumadhyasagara (ภูมิมัธยสาคร) เป็นการแปลความหมายมาด้วย หมายถึงทะเลที่อยู่กลางแผ่นดิน ลองไปดูในแผนที่จะเห็นว่าทะเล “ภูมิมัธยสาคร” เหมือนถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดินจริง ๆ ด้านบนเป็นยุโรป ด้านล่างเป็นแอฟริกา ส่วนคำว่าเกาะคือ dbip หรือทวีป ออกเสียงว่า ดีป เพราะ b ถูกลดเสียงไป ทวีปของเบงกาลีจึงมีขนาดต่างจากทวีปของไทย ถ้าจะพูดถึงทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย เบงกาลีใช้ mahadesh หรือมหาเทศ

          พระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ฯ ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 มีคำว่า “ทีป” ที่เกี่ยวเนื่องกับเกาะ โดยมีความหมายว่า ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง และผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง

185818

แม้บังกลาเทศอยู่ติดอ่าวเบงกอลแต่สินค้าประมงส่วนใหญ่กลับเป็นประมงน้ำจืดจากแม่น้ำและบึงต่าง ๆ ส่วนหาดทรายที่มีชื่อเสียงของบังกลาเทศอยู่ชายฝั่งอ่าวเบงกอลที่ Cox’s Bazar ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งรวมทั้งหาด Kolatoli
ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์

มอลตา

ทะเล “ภูมิมัธยสาคร” หรือเมดิเตอร์เรเนียนเป็นทะเลสำคัญที่เชื่อมยุโรป แอฟริกา และเอเชีย มีเกาะสำคัญหลายแห่งในบริเวณนี้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น เกาะครีต เกาะไซปรัส เกาะมอลตา ในภาพนี้คือ Azure Window ที่มอลตา ซึ่งถล่มลงมาแล้วเมื่อปี 2560
ภาพโดยพนม ทองประยูร

 

................................................

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ