ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 18 รัก โลภ โกรธ หลง

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 18 รัก โลภ โกรธ หลง

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 พ.ค. 2565

| 2,978 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 18 รัก โลภ โกรธ หลง

          พระท่านว่ารัก โลภ โกรธ หลง เป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา นำมาซึ่งทุกข์ คำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกหลายคำในภาษาไทย โดยเฉพาะที่ปรากฏในคำสอนทางพุทธศาสนามีใช้ในภาษาเบงกาลี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะพระไตรปิฎกใช้ภาษาบาลี ซึ่งเป็นญาติสนิทกับสันสกฤต บรรพบุรุษของเบงกาลี

          รักมีใช้อยู่หลายคำ เช่น prem (เปรม) saneha (เสน่หา) rati (รติ) priti (ปรีติ) และ adara (อาทร) แต่คำที่ใช้มากที่สุดคือ bhalabasa ซึ่งไม่มีในภาษาไทย คำเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงความรักของหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย เช่น อาทร ซึ่งในภาษาไทยใช้ในความหมายของความเอื้อเฟื้อ ห่วงใย ตอนที่พระราชวิสุทธิประชานาถหรือหลวงพ่ออลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ยังเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ สมณศักดิ์ของท่านคือ พระอุดมประชาทร มาจากประชา + อาทร เพื่อสะท้อนถึงงานดูแลผู้ติดเชื้อ HIV และติดยาเสพติดที่ท่านทำมาต่อเนื่องยาวนาน

          คำว่า priti ทำเป็นคำวิเศษณ์กลายเป็น pariyo (ปริโย) เมื่อปี 2552 กระทรวงวัฒนธรรมเคยประกาศยกย่องพุ่มพวง ดวงจันทร์ และสุรพล สมบัติเจริญ เป็นปริยศิลปิน จึงหมายถึงศิลปินอันเป็นที่รักของประชาชน

โลภใช้คำเดียวกัน แต่เบงกาลีมีคำว่า niralobha (นิรโลภ) ด้วย แปลว่าความไม่โลภ เหมือนตู้นิรภัยคือตู้ที่ไม่มีภัย สามารถเก็บรักษาสิ่งของให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง

          โกรธคือ krodha แต่ใช้ปนกับ raga (ราคะ) ซึ่งคำหลังนี้ต่างจากภาษาไทยที่หมายถึงความใคร่ ความยินดีในกาม

          ความโศกเศร้าคือ sok (โศก) วันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันอาลัยแห่งชาติ (National Mourning Day) ของชาวบังกลาเทศ เพื่อรำลึกถึงการลอบสังหาร Sheikh Mujibur Rahman ประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอกราชและเป็นบิดาแห่งชาติ ชาวบังกลาเทศเรียกวันนี้ว่าวัน “ชาติโย โศก”

          เบงกาลีมีคำว่า iccha หรืออิจฉา แต่ความหมายไม่ตรงกับภาษาไทยที่แปลว่าเห็นคนอื่นได้ดีแล้วไม่พอใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกในทางลบ แต่อิจฉาของเบงกาลีหมายถึงความอยาก ความต้องการในความหมายกลาง ๆ อย่างที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า desire หรือ wish เช่น เราอยากให้ใครมีความสุขก็ใช้คำนี้ได้

          อารมณ์กลัวในภาษาเบงกาลีคือ bhaya (ภัย) อคติที่เกิดจากความกลัวจึงเรียกว่าภยาคติ พจนานุกรมไทยแปลคำนี้ว่าสิ่งที่น่ากลัว เป็นปัจจัยจากนอกตัวเราที่อาจทำให้เป็นอันตราย เช่น อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย แต่ภัยของเบงกาลีคือความรู้สึกกลัวในใจของเรา

          อีกคำที่ความหมายไม่ตรงกันคือ bisbasa (พิศวาส) ซึ่งเบงกาลีแปลว่าความเชื่อมั่นศรัทธา แต่ไทยใช้ในความหมายว่ารักใคร่ หลงใหล ในขณะที่ shradha (ศรัทธา) เบงกาลีแปลว่าความเคารพ ใช้กับบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องอย่างสูง อาทิ ครูบาอาจารย์ หรือญาติผู้ใหญ่

S__19439972

นาย Sheikh Mujibur Rahman บิดาแห่งชาติของบังกลาเทศเป็นทายาทตระกูลเจ้าที่ดิน (zamindar) ในเขต Gopalganj ภาคธากา (Dhaka Division) ในภาพคือบ้านประจำตระกูลซึ่งจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์และเพิ่งบูรณะครั้งใหญ่ในโอกาส 100 ปีชาตกาลของนาย Mujib เมื่อปี 2563
ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ

219894

Shaheed Minar เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้สละชีพในการชุมนุมเรียกร้องให้ภาษาเบงกาลีเป็นภาษาราชการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2495 ในวันดังกล่าวของทุกปีจะมีการวางพวงมาลาซึ่งมักจะเขียนว่า “ศรัทธาญชลี” แปลว่าการบูชาด้วยความเคารพอย่างสูงสุด
ภาพโดย Finish Toju พนักงานขับรถสถานทูต

................................................