ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 29 สมาชิกในครัวเรือน

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 29 สมาชิกในครัวเรือน

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ก.ค. 2565

| 1,021 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 29 สมาชิกในครัวเรือน

          ในภาษาเบงกาลี คำว่าครอบครัวคือ paribar หรือบริวาร ความหมายจึงแตกต่างจากในภาษาไทยที่หมายถึงคนที่อยู่ภายใต้การปกครอง เช่น ข้าทาสบริวารในบ้านหรือลูกสมุนในแก๊งนักเลง มีแต่ในตำราโหราศาสตร์เท่านั้นที่บริวารครอบคลุมทั้งคนในครอบครัวและมิตรสหาย รวมทั้งลูกน้องที่เราต้องอุปการะดูแล ภาษาไทยมีอีกหนึ่งคำที่ความหมายเดียวกันคือบริพาร ซึ่งใช้ในคำว่าข้าราชบริพารที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในรั้วในวัง

          กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิภาพครอบครัวใช้ชื่อว่ากระทรวง Sbasthya o paribar kalyana ครึ่งหลังเมื่อเขียนเป็นภาษาไทยก็คือบริวารกัลยาณะ คำว่ากัลยาณะในภาษาเบงกาลีหมายถึงสวัสดิภาพ (welfare) แต่ในภาษาไทยแปลว่าดีหรืองาม ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทำหน้าที่อย่างดีจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี ปัจจุบันมีถนนกัลยาณไมตรีเป็นถนนสายสั้น ๆ เชื่อมระหว่างถนนสนามไชยกับถนนบำรุงเมือง อยู่ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับวังสราญรมย์ เป็นสถานที่ยอดนิยมในการถ่ายทำละครพีเรียดและมิวสิกวิดีโอ เพราะเป็นมุมที่เห็นด้านข้างของอาคารกระทรวงกลาโหมยาวจนสุดถนน ให้บรรยากาศย้อนยุค

          แล้วเบงกาลีเรียกบริวารที่เป็นผู้ช่วยเหลืองานหรือผู้รับใช้ว่าอย่างไร บริวารของเบงกาลีมีหลายคำ อาทิ paribarok (ปอ-ริ-บา-รก) cakara (จา-กร) anucari (อะ-นุ-จา-รี) dasa (ดาช) และ sebaka (เช-บก) สองคำหลังสุดนี้ในภาษาไทยคือทาสและเสวก คำว่า “เสวก” มักอ่านกันผิดเป็น สะ-เหวก แต่ที่ถูกต้องคือ เส-วก ตามการออกเสียงในภาษาบาลีสันสกฤต อย่างที่คนเบงกาลีก็อ่านว่า เช-บก

          เสวกในบริบทของไทยเป็นยศข้าราชการในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6 อาทิ เสวกตรี เสวกโท และลำดับสูงสุดคือมหาเสวกเอก เมื่อนำคำว่าเสวกสนธิกับอำมาตย์จะกลายเป็นเสวกามาตย์ ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี มีพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ

          เบงกาลีเรียกเด็กกำพร้าว่า anatha (อ่านว่า ออ-หนาด) ภาษาไทยคือ “อนาถ” ที่แปลว่าไม่มีที่พึ่ง กำพร้า ยากจนเข็ญใจ มาจากคำว่า อ (ไม่มี) + นาถ (ที่พึ่ง) บางครั้งเราใช้คำนี้ขยายความคนยากไร้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น เด็กอนาถา คนไข้อนาถา

          “นาถ” เป็นคำที่ต่อท้ายพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ธรรมเนียมนี้มีครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 คราวที่เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี 2440 ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้เป็นพระบรมราชินีนาถเมื่อปี 2499 หลังจากที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในระหว่างที่รัชกาลที่ 9 ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา 15 วัน

          เรายังใช้ “สมเด็จพระราชินีนาถ” สำหรับพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศที่เป็นพระราชินี (queen regnant) เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก แต่ถ้าเป็นพระราชินีที่อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ (queen consort) ใช้ “สมเด็จพระราชินี” เช่น สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน สมเด็จพระราชินีเลติเซียแห่งสเปน

243523

พระราชวังหลวงกรุงสตอกโฮล์มเป็นหนึ่งในพระราชวังที่สำคัญของราชวงศ์สวีเดน ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดพิธีและงานเลี้ยงรับรอง แต่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนประทับที่พระราชวัง Drottningholm
ภาพโดยฐานิดา เมนะเศวต อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม

243528

พระราชวังฤดูร้อน La Granja de San Ildefonso จังหวัด Segovia แคว้น Castilla y Leon สร้างสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 5 กษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์บูร์บองที่ปกครองสเปน โดยได้รับอิทธิพลจาก
พระราชวังแวร์ซายส์ ภาพโดยวรวุธ เชวงเกียรติ ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

.....................................

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ