ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 30 เบงกอลแผ่นดินทอง (ตอนที่ 1)

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 30 เบงกอลแผ่นดินทอง (ตอนที่ 1)

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ส.ค. 2565

| 1,218 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 30  เบงกอลแผ่นดินทอง (ตอนที่ 1)

         เพลงชาติบังกลาเทศมีชื่อว่า Amar Sonar Bangla แปลว่าเบงกอลแผ่นดินทองของข้า คำว่า sonar    ถอดเสียงเป็นไทยได้ว่า “โสณ” หมายถึงทองคำ เช่น ชื่อราชสกุลโสณกุล ซึ่งมาจากพระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ในภาษาเบงกาลี คำว่า sonali ที่แปลว่าสีทองก็มีรากศัพท์มาจาก sonar และต้นราชพฤกษ์ที่เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย คนเบงกาลีเรียกว่า sonalu

          เพลงชาติบังกลาเทศแต่งโดยรพินทรนาถ ฐากุร ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2456 (คนแรกที่ไม่ใช่ชาวยุโรป) มีผลงานชิ้นเอกคือ “คีตาญชลี” หรือ Song Offerings ซึ่งอาจจะแปลเป็นไทยได้ว่าการบูชาด้วยบทเพลง

          เนื้อหาของเพลง Amar Sonar Bangla พรรณนาถึงความงดงามและร่มเย็นของแผ่นดินแม่ จึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นเบงกอล แต่เล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงกวี สามารถทำให้ผู้ฟังเข้าถึงจิตวิญญาณของชาวเบงกาลีได้ภายใน 10 บรรทัด

          ในครึ่งแรกของเพลงมีวรรคสำคัญว่า “กลิ่นจากสวนมะม่วงในเดือนผลคุนีทำให้ข้าปั่นป่วนใจ ในเดือนอาครหายณีมีรอยยิ้มแสนหวานเบ่งบานทั่วทุ่งนาที่ข้าวออกรวง” เดือนผลคุนีและเดือนอาครหายณีเป็นชื่อเดือนตามปฏิทินเบงกาลี ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวที่ดวงจันทร์โคจรผ่านในช่วงนั้น ๆ ผลคุนีคือเดือน 11 ตรงกับกลางกุมภาพันธ์ถึงกลางมีนาคม อาครหายณีคือเดือน 8 ตรงกับกลางพฤศจิกายนถึงกลางธันวาคม (ดูเรื่องปฏิทินเบงกาลีได้ในตอนที่ 11) ในพระราชสาส์นของรัชกาลที่ 4 ถึงประธานาธิบดี James Bucanan แห่งสหรัฐฯ เรื่องพระราชดำริที่จะส่งช้างไปให้สหรัฐฯ ใช้ประโยชน์ ทรงใช้คำว่าเดือนผลคุนีให้หมายถึงเดือน March เพราะตอนนั้นยังไม่มีการบัญญัติชื่อเดือนแบบที่ใช้ในปัจจุบัน

          มะม่วงเป็นผลไม้ประจำถิ่นในเอเชียใต้ มีหลายเหตุการณ์ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงมะม่วง เช่น พระมหาชนกตัดสินใจออกบวชหลังเห็นผู้คนแย่งชิงกันเก็บมะม่วง จากต้นที่มีรสชาติหอมหวานจนต้นหักโค่น ทำให้คิดได้ว่าภัยย่อมบังเกิดแก่ผู้มีกังวลเหมือนมะม่วงต้นนี้ ในขณะที่มะม่วงที่ไม่มีผลเปรียบเสมือนผู้ปลอดพ้นจากกังวลทั้งปวง ซึ่งจะหาได้จากการออกบวช

          มะม่วงในภาษาเบงกาลีเรียกว่า “อาม” ในภาษาไทยมีอัมพวันกับอัมพวาที่แปลว่าสวนมะม่วง หน้ามะม่วงในบังกลาเทศอยู่ในช่วงพฤษภาคมถึงสิงหาคม รสชาติมีทั้งหวานมากและหวานปานกลาง ในสถานทูตไทยมีมะม่วงอยู่หลายต้น ทุกปีจะเก็บได้เป็นกระสอบ ๆ อย่างไรก็ดี มะม่วงกลับไม่ใช่ผลไม้ประจำชาติของบังกลาเทศแต่เป็นขนุน ซึ่งเบงกาลีเรียกว่า kathal

          ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวบังกลาเทศ ทั้งมะม่วงและข้าวจึงเป็นพืชผลที่ทำให้ชาวเบงกาลีรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน อารมณ์เดียวกับที่เพลงดวงจำปาของลาวใช้ดอกลั่นทมเป็นสัญลักษณ์แทนแผ่นดินแม่ในยามที่ต้องพลัดพรากไปไกล คนเบงกาลีเรียกข้าวสารว่า jal และเรียกข้าวสวยว่า bhat หรือภัต ซึ่งภาษาไทยมีใช้อยู่ในคำว่าภัตตาหารและภัตตาคาร

245653

ธงชาติบังกลาเทศออกแบบโดยขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัยธากาที่ต่อสู้เพื่อเอกราชเมื่อปี 2513 และถูกเชิญขึ้นเสาครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2514 ที่มหาวิทยาลัยธากา พื้นสีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของบังกลาเทศ และวงกลมสีแดงหมายถึงเลือดของผู้ที่สละชีพเพื่อเอกราชของประเทศ
ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์

245655

มะม่วงเป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยมในบังกลาเทศ และน่าจะเป็นต้นไม้ที่ชาวบังกลาเทศผูกพันเป็นพิเศษ ฤดูมะม่วงเริ่มตั้งแต่ปลายพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ห้ามนำเข้ามะม่วงจากต่างประเทศ
ภาพโดยวีระศักดิ์ เปรมอารีย์ ผู้อำนวยการประจำสำนักงานเลขาธิการบิมสเทค

..............................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ