ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 37 สิงสาราสัตว์

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 37 สิงสาราสัตว์

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ก.ย. 2565

| 1,308 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 37  สิงสาราสัตว์

          กรมปศุสัตว์มีภารกิจดูแลการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้แรงงานหรือไว้บริโภค และปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เลี้ยงง่าย ทนทานต่อโรค และให้เนื้อที่มีคุณภาพ เช่น วัว ควาย ไก่ หมู และช้าง ภาษาเบงกาลีใช้คำว่า pasu กับปศุสัตว์เช่นกัน แต่เป็นคำว่า pasusampatti หรือปศุสมบัติ ในมุมมองของคนเบงกาลีคงเห็นว่าปศุสัตว์คือสัตว์ที่มีมูลค่า เหมือนทรัพย์สินจึงเรียกว่าสมบัติ กฎหมายไทยมีความเห็นคล้ายกันและกำหนดให้สัตว์พาหนะเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ

          ตามคติฮินดู ปศุปติหรือปศุบดีเป็นอวตารหนึ่งของพระศิวะที่ทรงเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง

          ภาษาเบงกาลียังใช้คำว่า prani (ปราณี) สำหรับสัตว์ทั่วไปด้วย น่าจะมาจากคำว่า ปราณ ที่แปลว่าชีวิต  คำว่าสวนสัตว์คือปศุศาลา สัตววิทยา (zoology) คือ ปราณีพิทยา มีสัตว์หลายชนิดที่ไทยกับเบงกาลีเรียกเหมือนกัน เช่น แมวเรียก biral ภาษาไทยคือวิฬาร์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในการแต่งโคลงกลอนเท่านั้น แฟนคลับคนรักแมวจึงยังเป็นทาสแมวกันอยู่ ไม่เปลี่ยนเป็นทาสวิฬาร์

          ช้างคือ hati หรือหัตถี เหมือนในคำว่ายุทธหัตถีที่แปลว่าการต่อสู้บนหลังช้าง งานศพบุคคลสำคัญในภาคเหนือจะใช้ปราสาทนกหัสดีลิงค์เชิญศพจากวัดไปสุสาน หัสดีก็คือหัตถี นกหัสดีลิงค์เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่เกิดจากสัตว์ 4 ชนิด คือ ลำตัวเป็นนก หน้าเป็นสิงห์ ปากเป็นช้าง และหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ สามารถบินไปส่งดวงวิญญาณผู้ตายได้ถึงสวรรค์

          แม่วัวในภาษาเบงกาลีคือ gabhi หรือคาวี เรื่องหลวิชัยคาวีมีตัวละครหลักเป็นลูกเสือและลูกวัวที่รักกัน เหมือนพี่น้อง และมีฤษีเมตตาชุบชีวิตให้เป็นคน ลูกเสือชื่อหลวิชัย ลูกวัวคือคาวี ถึงแม้ว่าไม่ตรงกับความหมายเดิมที่หมายถึงแม่วัว แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องของวัวเหมือนกัน ภาษาอังกฤษเรียกแม่วัวว่า cow ออกเสียงคล้าย ๆ คาวี แต่น่าจะมาจากรากเดียวกัน

          ปลาคือ macha ได้ยินแล้วนึกออกทันทีว่าคำเดียวกับมัจฉา วัดในเมืองไทยที่อยู่ติดแม่น้ำซึ่งเป็นเขตอภัยทานมักจะมีปลาจำนวนมากมาอาศัยอยู่เพราะปลอดภัย หลายแห่งเลยติดป้ายเป็นอุทยานวังมัจฉาเพิ่มจุดเช็คอินให้วัด และเพื่อให้ญาติโยมมีโอกาสซื้อขนมปังให้ปลาเป็นทาน

          นกในภาษาเบงกาลีคือ pakkhi และ paksi (ปักษี) ภาษาไทยมีใช้ในงานวรรณกรรมเหมือนวิฬาร์หรือในศัพท์วิชาการ เช่น ปักษีวิทยา (ornithology) คือการศึกษาเกี่ยวกับนก

          ลิงเรียกว่า banar อ่านว่า บา-นอร์ หรือวานร ในกรุงธากามีวานรอยู่หลายฝูง บางครั้งก็แวะเวียนมาเที่ยวสถานทูตไทย โดยเฉพาะในช่วงหน้าผลไม้ ในสถานทูตยังมีครอบครัวพังพอนอยู่ในสวน เวลาใครเดินผ่านมักจะเอียงคอมองแต่ไม่มีท่าทีกลัวคนเลย บางครั้งนึกสนุกมุดท่อไปโผล่ในห้องน้ำให้คนตกใจเล่น ส่วนลิงลมหรือนางอายมีชื่อเบงกาลีว่า lajja banar คำว่า lajja แปลว่าอาย รวมแล้วเป็นลิงขี้อายเหมือนที่ไทยเราเรียกนางอาย

          มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่มีถิ่นกำเนิดในเมืองไทย เราจึงไม่มีคำเรียกสัตว์ชนิดนี้และต้องไปยืมมาจากภาษาแขก นั่นก็คืออูฐ

Baguette_2

Baguette_3

แมวในภาษาเบงกาลีคือ biral หรือวิฬาร์ Baguette เป็นวิฬาร์พันธุ์วิเชียรมาศประจำทำเนียบทูตที่กรุงธากา อายุ 16 ปีกว่า และย้ายถิ่นพำนักมา 4 ประเทศแล้ว
ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ

จระเข้

จระเข้ในศูนย์ขยายพันธุ์สัตว์ที่ Sundarbans ซึ่งคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่และจะคลานขึ้นฝั่งเมื่อได้ยินเสียงตบมือเรียกมาให้อาหาร คำว่าจระเข้ในภาษาเบงกาลีคือ kumbhira หรือกุมภีล์
ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ

.....................................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ