ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 38 ธรรมะ

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 38 ธรรมะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ก.ย. 2565

| 1,079 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 38 ธรรมะ

          ชาวบังกลาเทศมากกว่าร้อยละ 89 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 10 นับถือฮินดู ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 1 นับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น คริสต์และพุทธ ชาวพุทธมีประมาณ 1 ล้านคน ส่วนมากอยู่ทางตะวันออกของประเทศติดชายแดนเมียนมา ศาสนาในภาษาเบงกาลีคือคำว่า “ธรรมะ (dharma)” ศาสนาอิสลามคืออิสลามธรรม ศาสนาพุทธคือพุทธธรรม ทางการบังกลาเทศได้กำหนดวันหยุดราชการที่เป็นวันสำคัญของทุกศาสนาหลัก เช่น วันวิสาขบูชาของศาสนาพุทธและวันคริสต์มาสของศาสนาคริสต์ เพื่อแสดงถึงการเป็นสังคมที่ผู้มีศรัทธาความเชื่อต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีขันติธรรม

          ในบริเวณเมืองเก่าของกรุงธากาที่เรียกว่า Puran Dhaka หรือปุราณธากา มีวัดฮินดูที่สำคัญที่สุดในบังกลาเทศคือ Dhakeshwari National Temple หรือวัดธาเกศวรี ซึ่งมีสถานะเป็นวัดของรัฐ ธาเกศวรีแปลว่าเทพเจ้าแห่งธากา โดยเป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่ทุรคา

          นอกจากวัดฮินดูยังมีมัสยิดเก่าแก่อายุ 200 กว่าปีชื่อ Tara Masjid (ดารามัสยิด) แปลว่ามัสยิดแห่งดวงดาว เพราะบริเวณโดมตกแต่งด้วยดาวสีฟ้าดวงเล็ก ๆ ภาพมัสยิดนี้ปรากฏที่ด้านหลังของธนบัตร 100     ตากา

          เมืองเก่าธากาเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำ Buriganga (บุรีคงคา) ในสมัยอาณาจักรโมกุล ธากาเคยเป็นเมืองเอกของเบงกอล ราชสำนักโมกุลที่เดลีส่งข้าหลวงมาปกครอง ธากาในยุคนั้นเป็นเมืองที่รุ่งเรืองและเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีเรือสินค้าขวักไขว่บรรทุกสินค้ามาตามแม่น้ำ แต่หลังจากที่อังกฤษครอบครองอินเดียและตั้งเมืองหลวงที่กัลกาตา (ก่อนจะย้ายไปเดลี) ความเจริญของธากาก็เสื่อมถอยลง

          เมืองเก่าธากาในปัจจุบันอาจเทียบได้กับเกาะรัตนโกสินทร์ของกรุงเทพฯ คือเป็นแหล่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ถ้าจะเข้าถึงและเข้าใจรากเหง้าของธากาและบังกลาเทศ ก็ต้องมาเดินในเมืองเก่าสักครั้ง แต่ต้องทำใจไว้ก่อนว่าถนนแถวนั้นค่อนข้างแคบ การจราจรอาจติดขัดได้เป็นชั่วโมงเพียงเพราะรถสวนกันไม่ได้ แล้วคาอยู่กลางถนน

          เมื่อพูดถึงศาสนาก็ขอยกตัวอย่างคำที่พบบ่อยในคำสอนทุกศาสนาที่ต่างสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว บาปในภาษาเบงกาลีคือ pap หรือบาป (sin) และมีคำที่ความหมายเกี่ยวข้องกันคือ dosa หรือโทษ (guilt) เช่น การกล่าวโทษว่ากระทำความผิด แต่ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็จะถือว่า niradosa หรือนิรโทษ ส่วนการสวดมนต์ ภาษาเบงกาลีใช้หลายคำ แต่คำที่คนไทยฟังแล้วเข้าใจคือ prarthana kora กับ aradhana kora ซึ่งก็คือปรารถนากับอาราธนา คำว่า kora ที่ต่อท้ายแปลว่าทำ เทียบได้กับ do ในภาษาอังกฤษ

          ปรารถนาในภาษาไทยที่เราใช้กันมีนัยเกี่ยวกับความต้องการทางโลกมากกว่าการสวดมนต์ ในขณะที่อาราธนาใช้แต่ในพิธีทางศาสนา อาทิ การอาราธนาพระปริตร และการอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พจนานุกรมให้ความหมายของอาราธนาไว้ว่า การเชื้อเชิญ นิมนต์ อ้อนวอน หรือขอ จึงใช้เมื่อต้องการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอำนวยพรในพิธี

Cumilla_Temple

พระมหาเจดีย์พุทธบูชามหาโลกนาถปชาสามัคคีศรีอนาลโย ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย
อยู่ที่วัดนวสาลวันวิหาร เมืองคูมิลลา ภาคจิตตะกอง
ภาพโดย ดร.เชิดศักดิ์ วีระพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ CIRDAP

Dhakeshwari_Durga

 เจ้าแม่ทุรคาในวัดธาเกศวรีในเขตเมืองเก่าธากา ซึ่งมีศาสนสถานของชาวฮินดู คริสต์ และอิสลาม ตั้งอยู่ทั่วพื้นที่ แสดงถึงความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมมาแต่โบราณ
ภาพโดยพนม ทองประยูร

Sadar_Ghat_1

ท่าเรือ Sadarghat ริมแม่น้ำ Buriganga ในเขตเมืองเก่าเป็นท่าเรือหลักของกรุงธากามาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง เพราะการค้าขายใช้เรือขนส่งสินค้าทางน้ำ
ภาพโดย Md Nurul Imran ลูกจ้างฝ่ายกงสุลสถานเอกอัครราชทูตฯ

....................................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ