ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 41 ปราสาทสีชมพู

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 41 ปราสาทสีชมพู

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ต.ค. 2565

| 833 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 41  ปราสาทสีชมพู

          ในยุคที่อาณาจักรโมกุลเรืองอำนาจในชมพูทวีป มีหลายดินแดนที่จักรพรรดิโมกุลไม่ได้ปกครองโดยตรง แต่มีเจ้าผู้ปกครองในระดับท้องถิ่น ตำแหน่งที่เราคุ้นหูกันดีคือมหาราชาแห่งรัฐโน้นรัฐนี้ ส่วนในเบงกอลไม่มีมหาราชา แต่มีผู้ปกครองที่เรียกว่า nawab เช่น Nawab of Dhaka ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สืบทอดกันในตระกูล ครอบครองทรัพย์สินและที่ดินมากมายจนกระทั่งถูกยึดบางส่วนเป็นของรัฐเมื่อปี 2495 Nawab of Dhaka สร้างวังไว้หลายแห่ง ปัจจุบันยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง

          ภาษาเบงกาลีเรียกวัง (palace) และคฤหาสน์ (mansion) ว่า prasad (ปราสาท) ในขณะที่ปราสาทในภาษาไทยใช้เรียกที่ประทับของพระมหากษัตริย์หรือที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปราสาทพระเทพบิดร ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น วังที่สวยงามที่สุดในธากาคือ Ahsan Manzil เป็นอาคารทรงยุโรปที่โอ่อ่าทาสีชมพู ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบุรีคงคา ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางความเจริญของธากาในสมัยก่อน อุปราชอังกฤษประจำอินเดียแทบทุกคนที่มาเยือนธากาต่างเคยได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่ Ahsan Manzil นักท่องเที่ยวมักเรียกวังนี้ว่า Pink Palace ตามสีอาคาร ซึ่งตอนนี้อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ        

          พิพิธภัณฑ์ในภาษาเบงกาลีคือ jadughara แปลว่าบ้านแห่งของวิเศษ ส่วนคำว่าพิพิธในภาษาเบงกาลีก็มี แต่ใช้ในความหมายว่าหลากหลายหรือเบ็ดเตล็ด พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบังกลาเทศเคยจัดทำหนังสือรวบรวมภาพถ่ายโบราณของธากา โดยแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ อาทิ สถานที่สำคัญ ชีวิตริมน้ำ การขนส่ง ฯลฯ มีภาพจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถจัดเข้าหมวดหมู่ไหนได้ ผู้จัดทำเลยรวมไว้ในหัวข้อ “พิพิธ” โดยแปลเป็นอังกฤษว่า miscellaneous (เบ็ดเตล็ด)

          อาคารเก่าแก่ในบังกลาเทศมักอยู่ในสภาพทรุดโทรมเพราะทายาทไม่มีกำลังบำรุงรักษา ในที่สุดก็ต้องขายให้รัฐบาลหรือปล่อยให้รัฐยึดไป สำหรับ Ahsan Manzil ครั้งหนึ่งทายาทเคยมีดำริจะนำออกประมูลเพราะไม่สามารถดูแลรักษาได้ รัฐบาลจึงได้ซื้อไว้เป็นสมบัติของชาติ ในเขตเมืองเก่าธากา มีอาคารแบบนี้จำนวนมาก บางแห่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนจรจัด ภาษาเบงกาลีเรียกคนจรจัดว่า grhahina (ไร้บ้าน) มีรากศัพท์เดียวกันกับคฤหัสน์ (ผู้ครองเรือน) และคฤหาสน์ (เรือนที่ใหญ่โต)

          จากแผนที่กรุงธากาสมัยอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม จะเห็นว่าความเจริญของเมืองกระจุกตัวอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบุรีคงคา เพราะการขนส่งสินค้าใช้เรือเป็นหลัก ในระยะต่อมาจึงขยายเมืองขึ้นไปทางเหนือ ปัจจุบันย่านนี้กลายเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง เรียกว่า Old Dhaka หรือปุราณธากา ถัดขึ้นมาเป็นที่ทำการของรัฐบาลและกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ และขึ้นไปทางเหนือจะเป็นย่านธุรกิจและสถานทูต ซึ่งเพิ่งมาขยับขยายในช่วงหลัง ภาษาเบงกาลีเรียกแผนที่ว่า manacitra มาจาก man (มีคุณค่า) + citra (ภาพวาด) เป็นคำเดียวกับจิตรกรรม ส่วนจิตรกรคือ citrasilpi (จิตรศิลปี)

41.1_Ahsan_Manzil

Ahsan Manzil
ภาพโดยศิวพล กิตติวงศากูล

41.2_Sadar_Ghat_4

คลังสินค้าริมแม่น้ำ Buriganga ในย่านเมืองเก่าธากา
ภาพโดย Md. Nurul Imran Md Nurul Imran ลูกจ้างฝ่ายกงสุลสถานเอกอัครราชทูตฯ

 

..........................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ