วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 ต.ค. 2565
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 42 ขอมอบดอกไม้ในสวน
ดินฟ้าอากาศของบังกลาเทศคล้ายกับไทยมาก แต่ฝนชุกกว่าและหน้าหนาวอากาศจะเย็นกว่า ถ้าดูในแผนที่จะเห็นว่ากรุงธากาอยู่ในละติจูดเดียวกับทางใต้ของมณฑลยูนนาน แต่ความที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบใกล้ทะเล ไมได้เป็นที่สูง เลยไม่หนาวเท่าทางเหนือของอินเดียบริเวณเชิงเขาหิมาลัย
ในกรุงธากามีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะจามจุรี มะม่วง และขนุน แต่ที่น่าแปลกใจคือหาตลาดต้นไม้หรือแหล่งขายดอกไม้แบบปากคลองตลาดไม่ค่อยได้ ที่พอจะมีกลายเป็นต้นไม้ประดับสวนนำเข้าจากไทยและอินเดีย ซึ่งพอเจอกำแพงภาษีเข้าไปเลยทำให้ต้นไม้ที่แสนจะธรรมดาอย่างพลูด่าง กล้วยไม้ และเฟิร์น กลายเป็นพันธุ์ไม้ไฮโซมีราคาสูงขึ้นมาทันที
ดอกไม้ที่คนบังกลาเทศชอบจัดเป็นช่อ คือ เยอบีรา กุหลาบ และซ่อนกลิ่น ดอกกุหลาบเรียกว่า golapa อ่านว่า โก-หลาบ (ดูตอนที่ 33 สีสันเบงกาลี) ส่วนซ่อนกลิ่นมีชื่อที่ไพเราะเพราะพริ้งว่า rajnigondha หรือรัชนีคนธา รัชนีแปลว่ากลางคืน คนธาคือกลิ่นหอม รวมแล้วเป็นดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมยามค่ำคืน ความแพงของดอกไม้และมีให้เลือกไม่มากทำให้เวลาสถานทูตจัดงานเลี้ยงที่ต้องจัดโต๊ะให้สวยงาม ทีมงานที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตจึงยอมเหนื่อยเลือกใช้ดอกไม้แกะสลักในหลายโอกาส โดยเอาแครอทและหัวไชเท้ามาทำเป็นดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกบานชื่น หรือเป็นปลาทอง ปลาตะเพียน ปลาหมึก เพราะอย่างน้อยก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายงาน เสร็จจากงานเลี้ยงก็ย้ายไปประดับห้องรับแขกได้อีก
ต้นไม้อีกชนิดที่มีคำว่า “คนธา” คือต้นพุดซ้อน ซึ่งเบงกาลีเรียกว่า gandharaj (คนธราช) ยกย่องให้เป็นราชาแห่งกลิ่นหอมไปเลย ดอกไม้ไทยที่มีคำนี้ในชื่อเหมือนกันคือรสสุคนธ์ วังของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร มีชื่อว่าวังคันธวาส มีรากศัพท์จาก “คนธา” วังนี้อยู่ที่ถนนวิทยุ ปัจจุบันกลายเป็นโรงแรมแอทธินี
ศีลข้อ 8 กำหนดว่า “มาลาคันธะ วิเลปะนะ ธาระณะมัณฑะณะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ” ห้ามมิให้ประดับร่างกายด้วยดอกไม้และของหอม
ต้นชบาในภาษาเบงกาลีคือ joba หรือชบา และพิกุลคือ bokul หรือโบกุล ซึ่งออกเสียงคล้ายกับพิกุลอย่างมาก อัญชันเรียกว่า aparajita หรืออปราชิตา แปลว่าไม่มีผู้เอาชนะได้ เฟื่องฟ้าคือ bagan bilash (บาคานวิลาส) bagan คือสวน bilash คืองาม ชื่อนี้อาจเป็นการตั้งขึ้นภายหลังเพื่อให้ล้อกับชื่อของเฟื่องฟ้าในภาษาอังกฤษคือ bougainvillea ก็เป็นได้
ลั่นทมในภาษาเบงกาลีมีหลายชื่อ เช่น kath golap (กุหลาบไม้) และ gulchi แต่ชื่อที่สะดุดหูเป็นพิเศษคือ “จาปา” หรือ “จมปา” เพราะน่าจะเป็นที่มาของการที่คนลาวเรียกลั่นทมว่าดอกจำปา และมีเพลงลาวที่คนไทยรู้จักดีคือเพลงดวงจำปา ลั่นทมในภาษาฮินดีคือ champa ยิ่งชัดเจนว่าจำปาเมืองแขกมีความเชื่อมโยงกับจำปาเมืองลาว ส่วนจำปาไทย คนเบงกาลีเรียก sbornochapa แปลว่าสุวรรณจำปาหรือจำปาสีทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca
ต้นบานเย็นคือสนธยามาลตี ต้นเล็บมือนางคือมธุมาลตี คงเพราะมีกลิ่นหอมหวานเหมือนน้ำผึ้ง เล็บมือนางมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rangoon Creeper อาจเป็นเพราะฝรั่งพบพืชชนิดนี้ครั้งแรกที่กรุงย่างกุ้ง เลยนำไปตั้งเป็นชื่อต้นไม้ พืชอีกชนิดที่นำแหล่งกำเนิดไปเป็นชื่อคือสร้อยอินทนิล ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Bengal Trumpet ส่วนคนเบงกาลีเรียก nilobonlota มาจาก นีล (สีฟ้า) + พน (ป่า) + ลดา (เถา)
สนามบินกรุงธากาตั้งชื่อห้องรับรองพิเศษตามชื่อดอกไม้ ถ้าเอามาเรียงให้คล้องจองกันก็ฟังรื่นหูไม่ใช่เล่นเลยครับ นีลพนลดา สนธยามาลตี รัชนีคนธา
ลั่นทมประดับหมากเบ็งที่คนลาวใช้บูชาพระหรือใช้ประกอบพิธีกรรม
ภาพโดยจิรัสยา พีรานนท์ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
กุหลาบเป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกกันทั่วโลก แต่ดอกจะใหญ่และดกเป็นพิเศษเมื่อปลูกในเขตที่มีอากาศเย็น
ภาพโดยพนม ทองประยูร
แตงโมแกะสลักลายกุหลายเพื่อประดับโต๊ะจัดเลี้ยง
ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ
...........................................................................
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ: วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี 9.00 - 13.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวีซ่ากรุณาติดต่อ
02-222291248
02-58813261
02-222264281
02-222264277
ในเวลาทำการ