ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 43 ศัสตราวุธ

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 43 ศัสตราวุธ

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 พ.ย. 2565

| 1,590 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 43  ศัสตราวุธ

          พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบังกลาเทศมีส่วนจัดแสดงห้องหนึ่งชื่อ astrasastra อ่านว่า อส-โตร-สัช-โตร เขียนแบบไทย ๆ ได้ว่า อัสตรศัสตรา เหมือนในคำว่า ศัสตราวุธ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาอธิบายว่า ศัสตราคือเครื่องฟันแทง ศัสตราวุธหมายถึงอาวุธในการสู้รบ เป็นอาวุธร้ายแรง มีอำนาจทำลายล้างสูง อาวุธจึงมีความหมายกว้างกว่าศัสตราเพราะครอบคลุมอาวุธที่ไม่มีคม ฟันแทงไม่ได้ด้วย

          อัษฎาวุธคือ อาวุธ 8 อย่าง ซึ่งอัญเชิญมาถวายพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย 1. พระแสงจักร 2. พระแสงตรี  3. พระแสงดาบเชลย  4. พระแสงดาบมีเขน  5. พระแสงหอกเพชรรัตน์ 6. พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย 7. พระแสงธนู 8. พระแสงปืนต้นคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง

          พระโอรสในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ล้วนมีพระนามเกี่ยวกับอาวุธหรือเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ ได้แก่ มหาวชิราวุธ ตรีเพ็ชรุตม์ธำรง จักรพงษ์ภูวนาถ ศิริราชกกุธภัณฑ์ อัษฎางค์เดชาวุธ จุฑาธุชธราดิลก ประชาธิปกศักดิเดชน์ (เดชน์คือลูกศร) ถนนบางสายในกรุงเทพฯ ยังมีชื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเจ้าฟ้าพระองค์นั้น คือ ถนนตรีเพชร ถนนจักรพงษ์ ถนนอัษฎางค์

          เมื่อมีอาวุธย่อมมีการทำสงครามสู้รบ ซึ่งในภาษาเบงกาลีมีหลายคำ เช่น yudha (ยุทธ) samara (สมร) sangrama (สงคราม) และ ran (รณ) คำว่ายุทธในภาษาไทยยังเป็นรากศัพท์ของคำที่ไม่เกี่ยวกับการทำสงครามโดยตรง แต่หมายถึงหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย เช่น ยุทธศาสตร์ กลยุทธ และยังถูกนำไปคิดค้นเป็นคำใหม่ ๆ อาทิ ยุทธจักร และยุทธภพ ที่ปรากฏในนิยายกำลังภายใน ส่วนการสู้รบระหว่างตระกูลเการพและตระกูลปาณฑพ บางครั้งก็เรียกว่ามหาภารตยุทธ์ เป็นมหากาพย์ยิ่งใหญ่ของอินเดียคู่กับรามายณะ

          สงครามโลกในภาษาเบงกาลีคือ bisbayudha หรือวิศวยุทธ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ bisba ในตอนที่ 13 ลมฟ้าอากาศ และตอนที่ 36 วิชาความรู้)

          อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซียท่านหนึ่งชื่อ Susilo Bambang Yudhoyono แปลว่านักรบที่ทรงคุณธรรมและพร้อมสู้ศึก โดยมาจาก Susilo (สุศีล) Bambang (ชื่อภาษาชวาแปลว่านักรบ) และ Yudhoyono (ยุทธยาน) อิทธิพลของภาษาสันกฤตจึงแผ่ขยายไปถึงภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) และนับเป็นญาติห่าง ๆ ของเบงกาลี โดยคำว่า Bahasa ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นชื่อเฉพาะนั้น แท้จริงแล้วคือคำว่าภาษา    ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตเช่นกัน

          ชัยชนะคือ bijoy อ่านว่า บิ-ช็อย แปลเป็นไทยคือพิชัยหรือวิชัย อำเภอพิชัยในจังหวัดอุตรดิตถ์เคยเป็นเมืองสำคัญตั้งแต่สมัยสุโขทัย แปลว่าเมืองแห่งชัยชนะ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีความหมายเดียวกัน เวลาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของบังกลาเทศกล่าวปราศรัย มักจะตบท้ายด้วย Joy Bangla เพื่ออวยชัยให้บังกลาเทศประสบแต่ความรุ่งเรือง เป็นอารมณ์เดียวกับ “ไชโย” ของคนไทย 

          ความพ่ายแพ้คือ parajaya (ปราชัย) เหมือนในภาษาไทย ดอกอัญชันมีชื่อว่า aparajita (อปราชิต) แปลว่าไม่แพ้ (ดูตอนที่ 42) ชื่อเป็นมงคลแบบนี้ ทั้งนักกีฬาและจอมยุทธ์ทั้งหลายในยุทธจักรคงจะอยากได้ “ดอกไร้พ่าย” มาติดตัวไว้สักดอกก่อนลงสนามแข่งขันหรือสังเวียนประลองฝีมือ

43._Military_Museum

โมเดลแสดงการสู้รบระหว่างกองทัพของ Siraj-ud-Daulah เจ้าผู้ปกครอง (Nawab) แห่งเบงกอล กับกองกำลังของ British East India Company ในสมรภูมิแห่ง Plassey เมื่อปี ค.ศ. 1757 ซึ่งชัยชนะของฝ่ายหลังเป็นจุดเริ่มต้นของ การที่อังกฤษยึดครองดินแดนในอนุทวีปเป็นอาณานิคม
ภาพโดยพนม ทองประยูร

.................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ