ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 44 อุปโภค บริโภค

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 44 อุปโภค บริโภค

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 พ.ย. 2565

| 1,811 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 44  อุปโภค บริโภค

          สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ในบังกลาเทศเป็นสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากไทยและอินเดีย แม้จะมีราคาสูงแต่เป็นที่นิยมเพราะคนเชื่อมั่นในคุณภาพ สินค้าไทยมีตั้งแต่น้ำยาล้างห้องน้ำ ผงซักฟอก ครีมล้างหน้า ปลากระป๋อง และสบู่เหลว คำว่าอุปโภคบริโภคที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า consume ในภาษาเบงกาลีคือ grasa kara  และ bhojana kara คำว่า grasa คือคราส ส่วน kara เป็นคำกริยาของทำ เทียบได้กับ verb to do

          ในภาษาไทยมีคำที่ใช้คราสคือสุริยคราสและจันทรคราส หมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ถูกกินโดยพระราหู ส่วน bhojana คือโภชน ซึ่งในภาษาไทยใช้กับอาหารหรือสิ่งที่รับประทานเข้าไป เช่น โภชนาการ และโภชน์สภาคาร อันเป็นชื่อร้านอาหารเก่าแก่ตรงถนนตะนาว บางคนเรียกว่าร้านกุ๊กสมเด็จ เพราะผู้ก่อตั้งเคยเป็นกุ๊กในวังของเจ้านายพระองค์หนึ่ง ส่วนเบงกาลีใช้โภชนในคำว่าโภชนศาลา (ร้านอาหาร)

          คำว่า “โภค” และ “อุปโภค” ในบริบทของเบงกาลีคือ การมีความสุขกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (enjoy)

แต่ภาษาไทย ถ้าเป็นกริยาหมายถึงการกิน การใช้สอย เช่น เครื่องราชูปโภค (เครื่องใช้สอยของพระราชา) ถ้าเป็นคำนามคือทรัพย์สมบัติ เช่น โภคทรัพย์ โภคสมบัติ

          คำศัพท์ที่หมายถึงความมั่งมีและทรัพย์สินทั้งหลายนั้น เบงกาลีใช้เหมือนไทยเพราะต่างก็รับมาจากสันสกฤต กล่าวคือ ความมั่งมีคือ dhana (ธน) ทรัพย์สินคือ sampada (สมบัติ) วัว ควาย ม้า ลา เป็นปศุสัตว์ที่ถือว่ามีมูลค่าสูง เบงกาลีจึงเรียกว่า “ปศุสมบัติ”

          เวลาเราทำบุญแล้วพระท่านสวดมนต์อนุโมทนา มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตถิภาคยัง สุขัง พะลัง สิริอายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฑฒี จะ ยะสะวา” เป็นการให้พรให้ประสบแต่ความสำเร็จ (สิทธิ) มีทรัพย์ (ธะนัง) มีลาภ (ลาภัง) มีโชค (ภาคยัง) รวมถึงมีโภคสมบัติ (โภคัง)

          คำว่าลาภของเบงกาลีแปลว่าผลประโยชน์ที่ได้มาเหมือนในภาษาไทย

          เศรษฐกิจบังกลาเทศเติบโตเป็นบวกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด โดยมีรายได้หลักจากการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องหนังส่งออกให้ยี่ห้อดัง ๆ ของโลกหลายเจ้า เวลาซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนม ลองพลิกดูป้ายจะเห็นว่ามีหลายชิ้นที่ผลิตในบังกลาเทศเพราะค่าแรงถูก

          เศรษฐกิจในภาษาเบงกาลีใช้คำว่า arthaniti (อรรถนีติ) อ่านว่า ออ-ระ-โถ-นี-ติ กระทรวงการคลังคือกระทรวงอรรถ น่าจะมีที่มาจากหลักปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์ฮินดูว่า หลักประโยชน์ 4 ประกอบด้วย     อรรถะ (ทรัพย์หรือสิ่งที่เราต้องการแล้วพยายามมีให้ได้) กามะ (การแสวงหาความสุขทางโลก) ธรรมะ (หลักศีลธรรม) โมกษะ (ความหลุดพ้น) คัมภีร์อรรถศาสตร์ที่แต่งเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วแปลได้ว่าศาสตร์แห่งความมั่งคั่ง แต่ที่จริงมีเนื้อหาที่กว้างไกลกว่านั้น เพราะเป็นหลักบริหารสำหรับนักปกครอง ตำราเศรษฐศาสตร์คลาสสิกของโลกอย่าง The Wealth of Nations ของ Adam Smith ก็น่าจะเรียกอรรถศาสตร์แห่งชาติได้เหมือนกัน

          ตำราเศรษฐศาสตร์ของไทยมีศัพท์ที่เกี่ยวกับ “อรรถ” คือ อรรถประโยชน์ (utility) หมายถึงความพอใจจากการอุปโภคบริโภคสินค้าหรือบริการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี เราคุ้นเคยกับอรรถที่แปลว่าเนื้อความมากกว่า เช่น อรรถกถา อรรถคดี เชิงอรรถ

44.1_Market

ตลาดสดในกรุงธากา คำว่าตลาดในภาษาเบงกาลีคือบาชาร์ ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาเปอร์เซียและเป็นคำเดียวกับ bazaar ที่ภาษาอังกฤษรับมาใช้
ภาพโดยภาณุพันธ์ โชติรังสียากุล

44.2_Cow

วัวเป็นปศุสัตว์หรือปศุสมบัติในภาษาเบงกาลีที่สำคัญเพราะขายได้ราคาดี
ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ

.................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ