ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 47 โฆษณาพาเพลิน

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 47 โฆษณาพาเพลิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ธ.ค. 2565

| 1,616 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 47 โฆษณาพาเพลิน

วงการโฆษณาของไทยถือว่าอยู่ในแนวหน้าของเอเชียแปซิฟิก กวาดรางวัลระดับโลกมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะโฆษณาที่สร้างรอยยิ้มหรือแสดงอารมณ์ขันหักมุมแบบไทย ๆ คำว่าโฆษณาเป็นคำกริยา แปลว่าเผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชน ซึ่งตรงกับความหมายในภาษาเบงกาลี อย่างไรก็ดี คำว่าโฆษณาของไทยจะตรงกับคำว่า advertisement ในภาษาอังกฤษมากกว่า ในขณะที่คำว่า “โฆษณา” ของเบงกาลีคือ announcement มักใช้คู่กับคำกริยาทำ อาจแปลตามศัพท์ได้ว่าทำการประกาศ เช่น การประกาศชื่อกัปตัน  คริกเก็ตทีมชาติ หนังสือพิมพ์ก็ใช้คำว่าโฆษณา

          เหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของบังกลาเทศในฐานะประเทศคือการออกแถลงการณ์ประกาศความเป็นเอกราชจากปากีสถาน (Proclamation of Bangladeshi Independence) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2514 แถลงการณ์ฉบับนี้ภาษาเบงกาลีเรียกว่า “โฆษณาบัตร”

          คณะที่สอนเกี่ยวกับสื่อมวลชนและโฆษณาคือนิเทศศาสตร์ ในภาษาเบงกาลีมีคำว่า nidesa (นิเทศ) แปลว่าคำสั่ง (instructions) พจนานุกรมไทยแปลว่าชี้แจง แสดง จำแนก กระทรวงศึกษาธิการมีตำแหน่งศึกษานิเทศก์ คือ ผู้ชี้แจงแนะนำด้านการศึกษาแก่ครูในโรงเรียน กระทรวงการต่างประเทศไทยมีกรมสารนิเทศทำหน้าที่ชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อประเทศไทย

          เบงกาลีเรียกนิเทศศาสตร์ (mass communication) ว่า gana yogayoga (คณโยคาโยค) มาจาก คณ (คณะ) + โยคาโยค (การสื่อสาร) รวมแล้วคือการสื่อสารถึงสาธารณชน คำว่า “โยค” ในพจนานุกรมไทยแปลว่าการประกอบ การใช้ หรือกิเลส แต่ในภาษาบาลีมีความหมายที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือความเกี่ยวพัน การสมาคมกัน (connection with หรือ association) และคงเป็นที่มาของ “โยคาโยค” ของเบงกาลี

          กระทรวงโทรคมนาคมของบังกลาเทศจึงเรียกว่า กระทรวง “เตลิโยคาโยค” โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ  การเล่นโยคะหรือโยคีบำเพ็ญตบะที่ไหนทั้งสิ้น

          คำที่ใกล้เคียงกันคือ prakasa (ประกาศ) ซึ่งเบงกาลีหมายถึงการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ เช่น การตีพิมพ์หนังสือ ผู้พิมพ์คือ prakasok (ประกาศก) บาลีสันสกฤตและเบงกาลีนิยมเติม “ก” ต่อท้ายคำกริยาเพื่อให้กลายเป็นคำนามที่แปลว่าผู้ทำกริยานั้น ๆ เช่น ประกาศก นิเทศก ศิกษก (เบงกาลีอ่านว่า สิก-ขก แปลว่าครู  ถ้าเป็นครูผู้หญิงกลายเป็นสิกขิกา) ภาษาไทยรับมาใช้บ้างแต่ใส่ไม้ทัณฑฆาตเหนือ ก จึงไม่ออกเสียง อาทิ ศึกษานิเทศก์ และมัคคุเทศก์

47._Bangabandhu

Sheikh Mujibur Rahman ผู้ออกแถลงการณ์ให้บังกลาเทศเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2514 รูปปั้นนี้อยู่ที่ Bangabandhu Military Museum
ภาพโดยพนม ทองประยูร

.....................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ