ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 50 อารัมภบทและอวสาน

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 50 อารัมภบทและอวสาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ธ.ค. 2565

| 1,823 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 50  อารัมภบทและอวสาน

          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา นำเสนอบทความชุด “ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้” ในโอกาส 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - บังกลาเทศมาเป็นตอนที่ 50 พอดี จุดประสงค์หลักของบทความชุดนี้คือการเสริมสร้างความเข้าใจและความใกล้ชิดระหว่างประชาชนทั้งสองชาติ คนบังกลาเทศส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อไทย หลายคนชอบไปเที่ยวเมืองไทย และคุณภาพสินค้าไทยเป็นที่เชื่อมั่นในตลาดบังกลาเทศ

          ในทางกลับกัน คนไทยรู้จักบังกลาเทศน้อยมาก และไม่ค่อยมีภาพจำอะไรเป็นพิเศษ หนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับบังกลาเทศก็มีค่อนข้างจำกัด เมื่อหลายสิบปีก่อน โสภาค สุวรรณ นักประพันธ์ชั้นแนวหน้าของไทยเคยแต่งนวนิยายเรื่อง “ฟ้าสางที่ดัคกา” โดยใช้ฉากในบังกลาเทศ น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เขียนถึงประเทศนี้ สมัยนั้นเมืองหลวงของบังกลาเทศยังสะกดว่า Dacca สถานทูตไทยใช้ชื่อว่า “สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดัคคา” ต่อมาทางการเปลี่ยนเป็น Dhaka ภาษาไทยเลยเปลี่ยนตามเป็นธากา

          “ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้” ไม่ใช่บทความวิชาการ แต่เป็นเพียงความพยายามเล็ก ๆ ที่จะทำให้คนไทยได้รู้ว่า ภาษาไทยกับภาษาเบงกาลีมีความละม้ายหลายส่วนจนแทบจะนับญาติกันได้ และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนทั้งสองฝั่งผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งไทย เบงกาลี และฮินดี ต่างรับมรดกทางภาษามาจากบาลีสันสกฤต ผู้สนใจใคร่รู้ทางภาษาจึงอาจหาเวลาไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วจะเห็นความเชื่อมโยงถึงกัน เช่น อาจติดตาม #บาลีวันละคำ ในแฟนเพจ พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย และ #บาลีสันสกฤตฮินดีวันละคำในเฟซบุ๊กของสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

          สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอขอบคุณครูแอน กนกวรรณ ชัยทัต ครูสอนภาษาเบงกาลีที่สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการเชิญมาสอนภาษาให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้ช่วยให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการเขียนบทความนี้

          งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ขอส่งท้ายด้วย abasana หรืออวสาน เหมือนในภาพยนตร์ไทยที่ต้องขึ้นคำนี้ตัวโต ๆ ในฉากสุดท้าย แต่อะไรที่สิ้นสุดลงก็เริ่มใหม่ได้เสมอ เหมือนเพิ่งบอกลาปีเก่าได้ไม่นาน พอผ่านพ้นไปชั่วข้ามคืนก็ขึ้นปีใหม่อีกแล้ว การเริ่มต้นในภาษาเบงกาลีคือ arambha (อารัมภ) ซึ่งในภาษาไทยมีใช้ว่าอารัมภบท หมายถึงคำปรารภหรือคำนำในหนังสือ เพื่อบอกเล่าความเป็นมาและเนื้อหาสาระสำคัญในหนังสือเล่มนั้นให้ผู้อ่านเข้าใจเป็นพื้นฐาน

          Arambha ของเบงกาลีมักใช้เป็นคำกริยาโดยเอาไปพ่วงกับ kara ที่แปลว่าทำ ส่วนคำนำหรือคำปรารภมีใช้หลายคำ เช่น kathamukha (กถามุข) mukhabandho (มุขพันธ์) bhumika (ภูมิกา) และ anuvani (อนุวาณี) คำว่า “กถา” ในภาษาเบงกาลีและภาษาไทยแปลว่าคำกล่าว กถามุขจึงอาจแปลได้ว่าคำกล่าวในตอนต้น ส่วน “วาณี” ก็แปลว่าถ้อยคำ มีใช้ทั้งในภาษาไทยและเบงกาลี

          ไทยและบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 แต่ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนมีมาเนิ่นนานแต่โบราณ โดยมีภาษาเป็นมิติหนึ่งของสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และจะเป็นรากฐานให้ทั้งสองประเทศเสริมสร้างสัมพันธไมตรีให้เจริญงอกงามต่อไปอย่างมั่นคงและเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

50.1_Establishment_of_dip_relations

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2515 นายโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้แลกเปลี่ยนหนังสือกับ นาย A.R. Mallick เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำอินเดีย เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

50.2_Reception

งานเลี้ยงรับรองในโอกาส 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - บังกลาเทศ
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมเชอราตัน กรุงธากา

..............................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ