ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 11 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 3)

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 11 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 3)

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 มี.ค. 2565

| 1,854 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 11 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 3)

          คนโบราณใช้พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวเป็นตัวกำหนดทิศ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ การเดินทาง การเพาะปลูก หรือแม้แต่การสร้างบ้านให้เหมาะกับดินฟ้าอากาศตามหลักฮวงจุ้ย บางทิศถือเป็นทิศมงคลและได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น ทิศตะวันออก ทิศหลักมี 4 ทิศ ทิศย่อยอีก 4 ทิศ รวมเป็น 8 ทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสิบทิศเพราะเอาชนะอาณาจักรน้อยใหญ่ไปทุกทิศ และยังแถมทิศเบื้องบน (สวรรค์) กับเบื้องล่าง (บาดาล) ไปด้วย

          ชื่อทิศในภาษาไทยเรียกง่าย ๆ ตามตำแหน่ง คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ชื่อทิศในภาษาเบงกาลีเป็นคำชุดเดียวกันกับที่ไทยยืมภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ในงานวรรณกรรม แต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน หรือใช้ตั้งชื่อเฉพาะ ได้แก่ อุดร ทักษิณ บูรพา และประจิมหรือปัจฉิม หนอนหนังสือที่เคยอ่านมังกรหยกของกิมย้งต้องรู้จักยอดฝีมือ 4 คนที่มีฉายาตามทิศทั้งสี่ คือ อั้งฉิกกง (ยาจกอุดร) อิดเต็งไต้ซือ (ราชันทักษิณ)       อึ้งเอี๊ยะซือ (มารบูรพา) และอาวเอี๊ยงฮง (พิษประจิม)

          ความต่างในภาษาเบงกาลีคือการออกเสียง อุดรอ่านว่าอุตตระ ทักษิณอ่านว่าดักขิน บูรพาอ่าน  ปูรโบ และปัจฉิมอ่านว่า ปอศ-จิม คำในภาษาไทยที่อ่านอุตตระเหมือนเบงกาลีคืออุตรดิตถ์ แปลว่าเมืองท่าแห่งทิศเหนือ และอุตราวัฏ หมายถึงการเดินเวียนซ้ายทวนเข็มนาฬิกา เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะใช้หลักตั้งต้นจากทิศตะวันออกแล้ววนไปทางเหนือ ใช้กับงานอวมงคล เช่น การเวียนศพรอบเมรุ อินเดียมีรัฐหนึ่งชื่ออุตตรประเทศแปลว่ารัฐทางเหนือ ความหมายจึงคล้ายกับอุดรธานี

          นอกจากดวงดาวจะเป็นตัวช่วยในการระบุทิศ การเคลื่อนย้ายของดวงดาวยังบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้ด้วย ภาษาเบงกาลีเรียกดวงดาวที่มีอยู่ 27 กลุ่มว่า naksatra นิยมอ่านว่า นัก-ขัด ในภาษาไทยคือนักษัตร แต่อาจใช้ ข ในชื่อเฉพาะ อาทิ พระนามของ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร คนอินเดียโบราณคำนวณปฏิทินจากเส้นทางโคจรของดวงจันทร์ที่ต้องผ่านดวงดาวทั้งหลาย ปีหนึ่งมี 12 เดือน ตั้งชื่อตามกลุ่มดาว

          ปัจจุบันบังกลาเทศยังใช้ปฏิทินเบงกาลีซึ่งรับสืบทอดมาจากอินเดียโบราณควบคู่กับปฏิทินสากลเพื่อใช้กำหนดวันจัดประเพณีท้องถิ่น บางเดือนใช้ชื่อที่คนไทยคุ้นเคยดีเพราะเกี่ยวข้องกับวันสำคัญในพุทธศาสนา ได้แก่ ไวศาขะ (เดือน 1 ตรงกับเดือนเมษายน - พฤษภาคม) อาสาฬ (เดือน 3 ตรงกับเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม) และมาฆะ (เดือน 10 ตรงกับเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์) เป็นอันว่าจากชื่อดาวมาเป็นชื่อเดือนแล้วไทยรับมาใช้เรียกวันสำคัญทางศาสนา

          เดือน 9 ของปฏิทินเบงกาลีชื่อเดือน Poush ตามชื่อกลุ่มดาวบุษยะซึ่งมี 5 ดวง อาทิ ดาวปุยฝ้าย ดาวพวงดอกไม้ ดาวปู ตรงกับช่วงธันวาคมถึงมกราคม ภาษาไทยใช้บุษยมาส ผู้เขียนรู้จักคำนี้ครั้งแรกจากลิลิตตะเลงพ่ายที่เรียนตอนมัธยมปลาย บรรยายความตอนที่โหราจารย์คำนวณฤกษ์เคลื่อนทัพให้สมเด็จพระนเรศวร “เชิญบาทบงสุ์เสด็จคลา จากอโยธยายามเช้า เข้ารวิวารมหันต์ วันสิบเอ็ดขึ้นค่ำย่ำรุ่งสองนาฬิกา    เศษสังขยาห้าบาท ในบุษยมาสดฤษถี ศรีสวัสดิ์ฤกษ์อุดม” ในตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าทำไมมกราคมจึงเป็นบุษยมาส คิดเอาเองว่าสงสัยเพราะอากาศเย็นดีมีดอกไม้เยอะเลยเรียกเดือนแห่งดอกไม้ (ติดตามอ่านคำอธิบายเกี่ยวกับ “เศษสังขยา” ได้ในตอนที่ 27)

          ขอปิดท้ายเรื่องของดาวด้วยไก่ย่าง 5 ดาว ซึ่งมาเปิดตลาดในบังกลาเทศแล้ว แต่ขายเฉพาะไก่ทอด โดยใช้ชื่อว่า Five Star Chicken ตามภาษาอังกฤษแต่เขียนด้วยอักษรเบงกาลี ไม่ได้ตั้งชื่อใหม่ว่าไก่ทอด    ปัญจดารา

Moon_at_Sundarbans

จันทร์กระจ่างฟ้าเหนือป่าสุนทรวัน (Sundarbans) ซึ่งเป็นป่าชายเลนมรดกโลกของบังกลาเทศ

ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ

208299

พระจันทร์และดวงดาวเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวมุสลิมรวมทั้งในบังกลาเทศ โดยการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาประจำปีจะขึ้นอยู่กับการปรากฏของพระจันทร์บนท้องฟ้า

ภาพโดยศิวพล กิตติวงศากูล

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ