วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มิ.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 มิ.ย. 2565
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 22 สภาท่านผู้เฒ่า
บังกลาเทศมีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร ส่วนไทยใช้ระบบสองสภา มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ก่อนที่จะมีวุฒิสภา เมื่อปี 2489 เราเคยมีพฤฒิสภาที่ทำหน้าที่เดียวกัน คำนี้แปลว่าสภาผู้เฒ่า เพราะคัดเลือกผู้ทรงวัยวุฒิและคุณวุฒิที่มากประสบการณ์มาช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่ของ ส.ส. เพื่อความละเอียดรอบคอบ
ภาษาเบงกาลีใช้คำว่า briddho ในความหมายว่าแก่ ชรา สูงวัย วัดมหาพฤฒารามวรวิหารมาจากสมณศักดิ์ “พระมหาพฤฒาจารย์” ที่พระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 แปลว่าอาจารย์ผู้เฒ่า
บัดนี้ พฤฒิสภาของไทยเปลี่ยนเป็นวุฒิสภาแล้ว เรียกสมาชิกสภานี้แบบย่อ ๆ ว่า ส.ว. และ ส.ว. ก็เป็นคำที่ประชากรไทยวัยเลยเกษียณมักใช้เรียกตัวเองด้วยอารมณ์ขันให้หมายถึง “สูงวัย” จึงเป็นอันว่าสภาสูงของไทย ยังหนีไม่พ้นที่จะมีอะไรเชื่อมโยงกับความอายุมาก ความเกิดมานานแล้ว ความขาดแคลเซียม ฯลฯ อย่างเมื่อครั้งที่เป็นพฤฒิสภา
พงศาวดารเป็นเอกสารที่จะพบคำว่า “พฤฒ” ได้บ่อย ๆ ในคำว่าเสนาพฤฒามาตย์ มาจาก เสนา + พฤฒ + อำมาตย์ เช่น “ปีมะแมสัปตศก พุทธศักราช 1958 สมณพราหมณาจารย์ เสนาพฤฒามาตย์พร้อมกันอัญเชิญท้าวล้านคำแดงขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าล้านช้าง”
คำว่าเสนามีใช้ทั้งในภาษาไทยและเบงกาลี แปลว่าทหารหรือกองทหาร เหล่าทัพของไทยมีตำแหน่งเสนาธิการเป็นนายทหารที่มีหน้าที่คิดอ่าน วางแผน และประเมินสถานการณ์ เหมือนเป็นกุนซือประจำกองทัพ และก่อนที่ไทยจะมีรัฐมนตรี (ติดตามอ่านเกี่ยวกับเสนาเพิ่มเติมในตอนที่ 26 เสนาวาหินี) เราเคยเรียกผู้ดำรงตำแหน่งนี้ว่าเสนาบดีแม้จะไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับทหาร ในละคร จักร ๆ วงศ์ ๆ เสนา อำมาตย์ ราชครู ปุโรหิตเป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ มีหน้าที่มาเข้าเฝ้าพระราชาในท้องพระโรง ปุโรหิต (purohit) ในภาษาเบงกาลีหมายถึงนักบวช (priest)
อาชีพที่ภาษาเบงกาลีไม่สามารถยืมศัพท์จากสันสกฤตแต่ต้องทับศัพท์ภาษาอังกฤษคือตำรวจ ออกเสียงว่า ปุลิช (pulish) คงเป็นเพราะแต่ก่อนไม่มีตำรวจแบบปัจจุบัน มีแต่เสนาที่ป้องกันเมืองจากข้าศึก กิจการตำรวจสมัยใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงเรียกตามแบบอังกฤษ ตำรวจหญิงเรียกว่าปุลิชโมหิลา (pulish mohila) ตำรวจในภาษาฮินดีก็เรียกปุลิศเหมือนเบงกาลี
นอกจากคำว่า briddho ในภาษาเบงกาลียังมีอีกหลายคำที่สื่อถึงความสูงวัย ความเก่าแก่ เช่น puran (ปุราณหรือโบราณ) ย่านเมืองเก่าธากาเรียกว่า Puran Dhaka เป็นเขตที่เต็มไปด้วยอาคารประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยโมกุลและอังกฤษ รวมทั้ง Lalbagh Fort
ภาพโดยพนม ทองประยูร
................................................
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ: วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี 9.00 - 13.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวีซ่ากรุณาติดต่อ
02-222291248
02-58813261
02-222264281
02-222264277
ในเวลาทำการ