ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 24 วิเทศสโมสร

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 24 วิเทศสโมสร

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 มิ.ย. 2565

| 1,263 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 24  วิเทศสโมสร

          กระทรวงการต่างประเทศไทยมีห้องประชุมขนาดใหญ่ชื่อวิเทศสโมสร แปลว่าสถานที่พบปะกันกับชาวต่างประเทศ เคยใช้เป็นสถานที่จัดประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น การประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคซาร์สเมื่อปี 2546 และการประชุมผู้นำ ACD ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2559 รวมทั้งเคยเป็นสถานที่แถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อปี 2551 และจัดพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2562

          วิเทศในภาษาเบงกาลีแปลว่าต่างประเทศเช่นกัน คนต่างชาติเรียกว่าวิเทศี แต่กระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศไม่ใช้คำนี้ ใช้ว่ากระทรวงปรราษฏร์แทน (ดูตอนที่ 23 มนตรณาลัย) หลายหน่วยงานของไทยตั้งชื่อฝ่ายต่างประเทศว่าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มีอีกคำที่ความหมายเดียวกันคือบรเทศ แต่มีใช้อยู่น้อยมาก เช่น ชื่อเพลงแขกบรเทศ

          เบงกาลีใช้ “เทศ” ในความหมายว่า ประเทศ เขต หรือพื้นที่ ชื่อบังกลาเทศแปลว่าประเทศของชาวเบงกาลี ภาษาไทยใช้ “เทศ” กับพื้นที่ขนาดย่อมลงมาด้วยคือ เทศบาล เจ้าหน้าที่ของเทศบาลคือเทศกิจ ส่วนสำนวน “รู้จักกาลเทศะ” หมายถึงการทำตัวให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่ บางครั้งยังใช้เทศขยายความสัตว์ ผลไม้ หรือสิ่งของเพื่อบ่งบอกว่ามีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ เช่น ม้าเทศ เป็ดเทศ มะเขือเทศ มะขามเทศ แต่สำหรับคนบังกลาเทศแล้ว “เทศ” คือในประเทศ เวลาสถานีโทรทัศน์รายงานข่าวตัววิ่งที่ขอบล่างของจอ ข่าวในประเทศใช้หัวข้อว่า “เทศ” และข่าวต่างประเทศใช้ “วิเทศ”

          เราเรียกคนที่ทำหน้าที่สานสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าทูต เอกอัครราชทูตในภาษาเบงกาลีคือ rastraduta (ราษฏระทูต) สถานทูตคือ dutabas (ทูตาวาส) มาจากทูต + อาวาสที่แปลว่าที่อยู่ ดังนั้น ถ้าตีความแบบเบงกาลีเราน่าจะถือว่าเอกอัครราชทูตก็เป็นเจ้าอาวาสได้เหมือนกัน คำว่า bas หรือวาสยังใช้เรียกรังนกด้วย คือคำว่า pakhi basa

          สถานทูตไทยที่บังกลาเทศอยู่ในเขต Baridhara ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศตั้งใจให้เป็นเขตสถานทูต จึงรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ เขตนี้มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มาก คล้าย ๆ แถวสาทรและสุขุมวิท สถานทูตไทยทำสัญญาเช่าพื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา เป็นเวลา 99 ปี โดยได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการและทำเนียบทูตในบริเวณเดียวกัน บนถนนเส้นนี้ยังมีสถานทูตสหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี และตุรกี ถนนเส้นหนึ่งใกล้ ๆ สถานทูตชื่อถนนทูตาวาส เป็นที่ตั้งของสถานทูตญี่ปุ่น ปาเลสไตน์ และทำเนียบทูตอังกฤษ

          การก่อสร้างสถานทูตและทำเนียบทูตขึ้นใหม่ทำให้ออกแบบพื้นที่ใช้สอยได้ตามต้องการ ในหลายประเทศเราใช้วิธีเช่าตึกหรือบ้าน บ่อยครั้งที่พื้นที่คับแคบเกินไป โต๊ะกินข้าวนั่งได้เพียง 10 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ท่านทูตบางท่านเห็นว่าควรนั่งได้อย่างน้อย 20 คน โดยให้เหตุผลว่า หากประเทศใดมีสถานทูตอาเซียนอยู่ครบทุกประเทศ และไทยเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงทูตประเทศอาเซียนพร้อมคู่สมรส ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยมาก นับหัวแล้วควรมีอย่างน้อย 20 ที่นั่ง

          ภาษาเบงกาลีเรียกนักการทูตว่า kutanitika มาจากกูฏ (หลอกลวง) + นีติ (ความประพฤติ) รวมแล้วนักการทูตเลยเฉียด ๆ จะอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกสิบแปดมงกุฎ แต่ที่จริงเราอาจตีความให้ดีขึ้นหน่อยได้ว่า “กูฏ” หมายถึงการอำพรางไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ความคิดที่แท้จริงของเรา จะพอใจหรือไม่พอใจก็ทำหน้านิ่งเข้าไว้ เพื่อให้เขาคล้อยตาม เหมือนเนื้อเพลงบัวแก้วของกระทรวงการต่างประเทศที่บอกว่า “ถึงน้ำจะขุ่นด้วยเลนด้วยตม บัวแก้วก็ข่มซ่อนขุ่นเอาไว้ข้างใน”

วิเทศสโมสร

วิเทศสโมสร
วิเทศสโมสรเป็นอาคารโถงชั้นเดียวสำหรับจัดประชุม จัดงานเลี้ยงรับรอง หรือจัดกิจกรรมสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ตรงกลางมีสีหบัญชรที่จำลองแบบจากพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท สถานที่ที่ราชทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภาพโดยสราญจิตต์ ศรีศกุน นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมสารนิเทศ

ภาพ_สอท(1)

ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากาในปัจจุบันเปิดใช้เมื่อปี 2549 โดยใช้สถาปนิกและบริษัทก่อสร้างไทย
ภาพโดยพนม ทองประยูร

.................................................