ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 33 สีสันเบงกาลี

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 33 สีสันเบงกาลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ส.ค. 2565

| 2,565 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 33 สีสันเบงกาลี

          มีบางสีของเบงกาลีที่เป็นคำในภาษาไทยด้วย คือ สีฟ้า สีชมพู และสีดำ

          Nil (นีล) คือสีฟ้า ภาษาเบงกาลีเรียกไพลินว่า nil (นีล) หรือ nilakantamani (นีลกานต์มณี) คำนี้สร้างความสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อพูดถึงนิลคนไทยจะนึกถึงอัญมณีสีดำสนิท “นิลรัตน์” ที่เป็นชื่อแมวไทยชนิดหนึ่งจึงหมายถึงแมวที่มีสีดำทั้งตัว รวมถึงเล็บ ลิ้น ฟัน และตา และม้านิลมังกรในเรื่องพระอภัยมณีก็มีสีดำเพราะสุนทรภู่บรรยายว่า “เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน” แต่คำว่านิลก็หมายถึงสีฟ้าหรือน้ำเงินได้ เช่น นิลุบลที่หมายถึงบัวสีขาบ

          ในเอเชียใต้มีสัตว์ชนิดหนึ่งเรียกว่า “นิลกาย” ภาษาอังกฤษเรียก blue bull เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์วัวและควาย ลักษณะเหมือนวัวผสมม้า เมื่อโตเต็มที่จะมีสีน้ำเงินเข้มหรือเทาปนดำ อันเป็นที่มาของชื่อ

          สีดำของเบงกาลีคือ kalo (กาฬ) คำนี้คนไทยรู้จักดี เช่น กาฬทวีปหมายถึงแอฟริกา กาฬโรคหมายถึงโรคระบาดที่เคยคร่าชีวิตคนนับล้านในยุโรปในศตวรรษที่ 14 และได้ชื่อว่าเป็น Black Plague

          Golapi (โกลาปี) คือสีชมพู มาจาก golapa ที่หมายถึงกุหลาบ บางคนเห็นว่าไทยอาจรับคำนี้มาจากภาษาเปอร์เซีย “กุล้อบ” ที่แปลว่าน้ำดอกไม้ แต่ไม่ว่าไทยจะรับมาจากเปอร์เซีย ฮินดี หรือเบงกาลี เราน่าจะมั่นใจได้ว่ากุหลาบเป็นสิ่งที่นำเข้ามาจากเมืองแขก สีชมพูของแขกอ้างอิงมาจากดอกไม้ แต่ชมพูของไทยคงมาจากลูกหว้า ซึ่งในภาษาบาลีสันสกฤตเรียก jambu

          ตามคติฮินดูโบราณ โลกมี 7 ทวีป แต่ละทวีปคั่นกลางและล้อมรอบด้วยทะเลทั้งเจ็ด ชมพูทวีปเป็นแผ่นดินที่เล็กที่สุดอยู่ชั้นในสุด มีต้นชมพู่หรือต้นหว้าขึ้นอยู่ ลูกใหญ่เท่าช้าง เมื่อลูกหล่นลงพื้นดินน้ำจากลูกหว้าจะไหลนองออกมาจนกลายเป็นแม่น้ำ กลายเป็นที่มาของชื่อชมพูทวีป ลูกหว้าที่แก่จัดมีสีม่วงเข้มเกือบดำเหมือนลูกพลัมสุก ฝรั่งบางคนถึงเรียกว่า Indian blackberry หรือ Java plum ถ้าจะให้เป็นสีออกชมพูต้องเป็นลูกที่ห่ามหน่อย หรือแม้จะสุกแล้ว เนื้อลูกหว้าก็ยังมีสีเจือม่วงอมชมพู ภาษาเบงกาลีเรียกลูกหว้าว่า jam

          Jambu ในภาษาต้นฉบับแปลว่าหว้าหรือชมพู่ (rose apple) ก็ได้ ภริยาของคุณ Ali Alatas อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเคยติดตามสามีมาประจำการที่เมืองไทยตอนที่ยังเป็นข้าราชการประจำเคยเล่าว่า ท่านชอบทานชมพู่ไทยมาก วันหนึ่งท่านไปต่างจังหวัดและไปพักในโรงแรม ได้บอกพนักงานเป็นภาษาไทยว่าขอ “ชมพู่” ไม่กี่อึดใจต่อมา พนักงานก็กุลีกุจอนำแชมพูสระผมมาให้ท่านที่ห้อง!

          คนไทยสมัยก่อนมีอีกคำที่ใช้เรียกสีโทนชมพู คือ สีบัวโรย มาจากสีของกลีบบัวหลวงสีชมพู พอเริ่มโรยจะเป็นชมพูแก่หม่น ๆ โทนพาสเทล ภาษาลาวเรียกสีชมพูว่าสีบัว ก็คงได้แรงบันดาลใจมาจากดอกบัวเช่นกัน

250152

ภาษาเบงกาลีเรียกสีชมพูว่า golapi ตามดอกกุหลาบ อาจเป็นเพราะในธรรมชาติไม่ค่อยมีดอกไม้หรือสสารอื่น ๆ เป็นสีนี้
ภาพโดยพนม ทองประยูร

temp_cd428a8bdfc09c5242bd680feeb26411a_4782790111659212928_64806521587554

การมอบช่อดอกไม้ให้แขกสำคัญเป็นธรรมเนียมของชาวบังกลาเทศ บางครั้งเป็นเพียงดอกไม้ในสวนหลังบ้านแต่ก็เปี่ยมล้นด้วยความน่ารักและจริงใจ
ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์

...........................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ