วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ส.ค. 2565
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 33 สีสันเบงกาลี
มีบางสีของเบงกาลีที่เป็นคำในภาษาไทยด้วย คือ สีฟ้า สีชมพู และสีดำ
Nil (นีล) คือสีฟ้า ภาษาเบงกาลีเรียกไพลินว่า nil (นีล) หรือ nilakantamani (นีลกานต์มณี) คำนี้สร้างความสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อพูดถึงนิลคนไทยจะนึกถึงอัญมณีสีดำสนิท “นิลรัตน์” ที่เป็นชื่อแมวไทยชนิดหนึ่งจึงหมายถึงแมวที่มีสีดำทั้งตัว รวมถึงเล็บ ลิ้น ฟัน และตา และม้านิลมังกรในเรื่องพระอภัยมณีก็มีสีดำเพราะสุนทรภู่บรรยายว่า “เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน” แต่คำว่านิลก็หมายถึงสีฟ้าหรือน้ำเงินได้ เช่น นิลุบลที่หมายถึงบัวสีขาบ
ในเอเชียใต้มีสัตว์ชนิดหนึ่งเรียกว่า “นิลกาย” ภาษาอังกฤษเรียก blue bull เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์วัวและควาย ลักษณะเหมือนวัวผสมม้า เมื่อโตเต็มที่จะมีสีน้ำเงินเข้มหรือเทาปนดำ อันเป็นที่มาของชื่อ
สีดำของเบงกาลีคือ kalo (กาฬ) คำนี้คนไทยรู้จักดี เช่น กาฬทวีปหมายถึงแอฟริกา กาฬโรคหมายถึงโรคระบาดที่เคยคร่าชีวิตคนนับล้านในยุโรปในศตวรรษที่ 14 และได้ชื่อว่าเป็น Black Plague
Golapi (โกลาปี) คือสีชมพู มาจาก golapa ที่หมายถึงกุหลาบ บางคนเห็นว่าไทยอาจรับคำนี้มาจากภาษาเปอร์เซีย “กุล้อบ” ที่แปลว่าน้ำดอกไม้ แต่ไม่ว่าไทยจะรับมาจากเปอร์เซีย ฮินดี หรือเบงกาลี เราน่าจะมั่นใจได้ว่ากุหลาบเป็นสิ่งที่นำเข้ามาจากเมืองแขก สีชมพูของแขกอ้างอิงมาจากดอกไม้ แต่ชมพูของไทยคงมาจากลูกหว้า ซึ่งในภาษาบาลีสันสกฤตเรียก jambu
ตามคติฮินดูโบราณ โลกมี 7 ทวีป แต่ละทวีปคั่นกลางและล้อมรอบด้วยทะเลทั้งเจ็ด ชมพูทวีปเป็นแผ่นดินที่เล็กที่สุดอยู่ชั้นในสุด มีต้นชมพู่หรือต้นหว้าขึ้นอยู่ ลูกใหญ่เท่าช้าง เมื่อลูกหล่นลงพื้นดินน้ำจากลูกหว้าจะไหลนองออกมาจนกลายเป็นแม่น้ำ กลายเป็นที่มาของชื่อชมพูทวีป ลูกหว้าที่แก่จัดมีสีม่วงเข้มเกือบดำเหมือนลูกพลัมสุก ฝรั่งบางคนถึงเรียกว่า Indian blackberry หรือ Java plum ถ้าจะให้เป็นสีออกชมพูต้องเป็นลูกที่ห่ามหน่อย หรือแม้จะสุกแล้ว เนื้อลูกหว้าก็ยังมีสีเจือม่วงอมชมพู ภาษาเบงกาลีเรียกลูกหว้าว่า jam
Jambu ในภาษาต้นฉบับแปลว่าหว้าหรือชมพู่ (rose apple) ก็ได้ ภริยาของคุณ Ali Alatas อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเคยติดตามสามีมาประจำการที่เมืองไทยตอนที่ยังเป็นข้าราชการประจำเคยเล่าว่า ท่านชอบทานชมพู่ไทยมาก วันหนึ่งท่านไปต่างจังหวัดและไปพักในโรงแรม ได้บอกพนักงานเป็นภาษาไทยว่าขอ “ชมพู่” ไม่กี่อึดใจต่อมา พนักงานก็กุลีกุจอนำแชมพูสระผมมาให้ท่านที่ห้อง!
คนไทยสมัยก่อนมีอีกคำที่ใช้เรียกสีโทนชมพู คือ สีบัวโรย มาจากสีของกลีบบัวหลวงสีชมพู พอเริ่มโรยจะเป็นชมพูแก่หม่น ๆ โทนพาสเทล ภาษาลาวเรียกสีชมพูว่าสีบัว ก็คงได้แรงบันดาลใจมาจากดอกบัวเช่นกัน
ภาษาเบงกาลีเรียกสีชมพูว่า golapi ตามดอกกุหลาบ อาจเป็นเพราะในธรรมชาติไม่ค่อยมีดอกไม้หรือสสารอื่น ๆ เป็นสีนี้
ภาพโดยพนม ทองประยูร
การมอบช่อดอกไม้ให้แขกสำคัญเป็นธรรมเนียมของชาวบังกลาเทศ บางครั้งเป็นเพียงดอกไม้ในสวนหลังบ้านแต่ก็เปี่ยมล้นด้วยความน่ารักและจริงใจ
ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์
...........................................
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ: วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี 9.00 - 13.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวีซ่ากรุณาติดต่อ
02-222291248
02-58813261
02-222264281
02-222264277
ในเวลาทำการ