วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ก.ย. 2565
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 34 จราจร จลาจล
รถยนต์ รถไฟ เรือ เครื่องบิน ที่รวมแล้วเราเรียกว่า “ยานพาหนะ” เป็นคำเดียวกับในภาษาเบงกาลี ซึ่งออกเสียงว่า “ยาน-บา-หน” แต่การจราจรเขาเรียกว่า “จลาจล” มาจากรากศัพท์ในภาษาสันสกฤต จล (ไป) + อจล (ไม่ไป) กรุงธากาเป็นเมืองหนึ่งที่มีการจราจรเข้าขั้นจลาจล เพราะมีประชากรหนาแน่น การเดินทางระยะสั้น ๆ อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง มีเสียงบีบแตรตลอดทั้งวัน รัฐบาลจึงมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าโดยหวังว่าจะช่วยลดความแออัดของรถราบนถนน รถไฟฟ้าสายแรกซึ่งมีกำหนดเปิดบริการในปลายปี 2565 มีสัญญาสัมปทานหลายส่วนเป็นฝีมือก่อสร้างของบริษัทอิตาเลียนไทย
ภาษาเบงกาลีไม่ได้บัญญัติศัพท์สำหรับรถไฟ แต่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ส่วนสถานีรถไฟก็ทับศัพท์จาก train station กิจการรถไฟบังกลาเทศเป็นมรดกตกทอดสำคัญอย่างหนึ่งจากสมัยอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม มีเส้นทางเชื่อมโยงกับอินเดีย ขบวนรถด่วนระหว่างกรุงธากากับเมืองโกลกาตามีชื่อว่า Maitree Express การรถไฟบังกลาเทศใช้ชื่อว่า “บังกลาเทศเรลเวย์” แต่อย่างที่เคยเล่าว่า ว เป็นเสียงจอมยุ่งของเบงกาลีเพราะไม่มีอักษรเสียง ว โดยเฉพาะ คำว่าเรลเวย์ที่เขียนแบบเบงกาลีจึงถอดเสียงเป็นไทยได้ว่า เรล-โอ-เย พูดเร็ว ๆ ก็ฟังเป็นเรลเวย์ได้เหมือนกัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกของคนไทยมีชื่อเดิมว่า แบงก์สยามกัมมาจลเพื่อให้ล้อกับคำว่า commercial ต่อมาเมื่อปี 2482 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายกกรรมการแบงก์สยามกัมมาจลในขณะนั้นประทานชื่อให้ใหม่ว่า “ไทยพาณิชย์” หลังจากที่สยามเปลี่ยนชื่อเป็นไทย โดยทรงให้เหตุผลว่า "กัมมาจลแปลว่าการกระทำไม่เคลื่อนไหว แต่กิจการธนาคารไหวติงอยู่เรื่อยจึงจะดี" อย่างไรก็ดี ผู้รู้บาลีบางท่านเห็นว่า กัมมาจลก็สามารถแปลว่า “ธนาคารที่มีกิจการมั่นคงประดุจภูเขา” ได้เช่นกัน เพราะเป็นคำที่ประกอบด้วย “กัมมะหรือกรรม” ที่แปลว่าการกระทำ กิจการงาน และ “อจล” ซึ่งแปลว่าไม่ไปหรือไม่หวั่นไหวก็ได้ ในที่นี้จึงอาจเลือกใช้ความหมายหลัง
สำหรับการจลาจล (traffic) ในกรุงธากาแล้ว ต้องแปลว่าการไปที่ไม่หวั่นไหวจึงจะเหมาะที่สุด เพราะบางครั้งเราอาจต้องนั่งแช่อยู่ในรถโดยไม่ขยับนานนับชั่วโมง แน่นิ่งไม่ไหวติงประดุจภูเขา แต่ยามที่รถเคลื่อนตัวได้ ยวดยานทุกชนิดจะพุ่งจากทุกทิศทางยิ่งกว่าโคถึกที่คึกพิโรธ ใครที่เคยไปฮานอยแล้วเดินข้ามถนนฝ่าฝูงมอเตอร์ไซค์ โดยกะว่าคนขับกับคนข้ามจะรู้จังหวะกันเอง น่าจะใช้เคล็ดลับนี้ที่ธากาไม่ได้ คนเดินเท้าในบังกลาเทศที่ภาษาเบงกาลีเรียกว่า “บถจารี” ต้องใช้ทักษะสูงกว่านั้นเวลาข้ามถนน เพราะอาจมียานพาหนะที่คาดไม่ถึงโผล่มาได้เสมอ
ประชากรที่หนาแน่นและการใช้ถนนตามอัธยาศัยมากกว่ากฎจราจรทำให้การจราจรในกรุงธากาติดขัดได้เสมอ
ภาพโดยพนม ทองประยูร
ถไฟฟ้าสายที่ 6 เป็นรถไฟฟ้าสายแรกในกรุงธากา สร้างแบบยกระดับตลอดเส้นทางกว่า 20 กิโลเมตร
ภาพโดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
...............................................
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ: วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี 9.00 - 13.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวีซ่ากรุณาติดต่อ
02-222291248
02-58813261
02-222264281
02-222264277
ในเวลาทำการ