ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 39 โสมปุระมหาวิหาร

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 39 โสมปุระมหาวิหาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ต.ค. 2565

| 995 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 39  โสมปุระมหาวิหาร

          ดินแดนที่เป็นบังกลาเทศในปัจจุบันเคยเป็นอาณาจักรโบราณที่นับถือศาสนาพุทธและฮินดู จึงมีโบราณสถานหลายแห่งให้ศึกษาค้นคว้า หนึ่งในนั้นคือโสมปุระมหาวิหาร อยู่ในจัภาค Rajshahi ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศติดชายแดนอินเดีย ฝั่งอินเดียคือรัฐเบงกอลตะวันตก

          มหาวิหารนี้สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 สมัยราชวงศ์ปาละ นับถึงตอนนี้จึงมีอายุประมาณ 1,300 ปี ใช้เป็นสถานที่ศึกษาของพระสงฆ์ เอกสารโบราณเคยกล่าวถึงโสมปุระมหาวิหารว่าเป็นหนึ่งในห้ามหาวิหารที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยในระดับเดียวกับนาลันทา เรียกได้ว่าเป็นสมาชิก Ivy League แห่งชมพูทวีป ความสำคัญของโสมปุระมหาวิหารทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2528

          มรดกโลกทางวัฒนธรรมในภาษาเบงกาลีคือ bisba sanskrtika aitihya คำว่า sanskrtika มาจาก “สันสกฤต” ที่เป็นชื่อภาษา ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่างานที่กลั่นกรองแล้ว ตกแต่งแล้ว บริสุทธิ์สมบูรณ์ หรือศักดิ์สิทธิ์ นักภาษาศาสตร์อธิบายว่า ต้นกำเนิดของภาษาสันสกฤตคือภาษาพระเวทที่ใช้ในการสวดคัมภีร์พระเวทของพวกอารยันในยุค 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาได้มีนักปราชญ์ทางภาษาคนสำคัญชื่อปาณินิ ได้จัดระบบภาษาพระเวทและเขียนตำราขึ้นมา จึงกลายเป็นภาษาที่ “ตกแต่งแล้ว” แต่ก็ทำให้สันสกฤตเป็นภาษาที่มีไวยากรณ์ซับซ้อนและใช้ในวงจำกัดของผู้มีความรู้

          ปัจจุบันมีชาวพุทธในบังกลาเทศประมาณ 1 ล้านคน ในกรุงธากามีวัดสำคัญแห่งหนึ่งคือ วัดธรรมราชิกาพุทธมหาวิหาร ซึ่งทั้งรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เคยเสด็จฯ ไปที่วัดนี้ในโอกาสเสด็จฯ เยือนบังกลาเทศเมื่อปี 2505 และ 2535 ตามลำดับ และในปีนี้ก็เป็นวาระครบรอบ 60 ปี และ 30 ปี ของการเสด็จฯ ทั้งสองครั้ง

          คำว่าพุทธแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภาษาเบงกาลีรับคำนี้ไปใช้ว่า buddhi (พุทธิ) ในความหมายว่าความฉลาดหลักแหลม และเมื่อทำเป็นคำวิเศษณ์จะกลายเป็น buddhiman (พุทธิมาน) แปลว่าฉลาดหลักแหลม ดังนั้น ภาษาเบงกาลีจึงมีทั้งคำว่าพุทธและธรรม แต่การใช้มีนัยต่างจากในภาษาไทย (อ่านเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 38 ธรรมะ)

          เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กว่าพระอานนท์เป็นพระผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต อานนท์แปลว่าความยินดี ความเพลิดเพลิน แล้วยังเป็นชื่อปลาในวรรณคดีที่เชื่อกันว่าหนุนแผ่นดินเอาไว้ เมื่อปลาอานนท์พลิกตัวเลยเกิดแผ่นดินไหว ว. ณ ประมวญมารค เคยแต่งนวนิยายเรื่องเจ้าสาวของอานนท์ ซึ่งมีเนื้อหาต่อจากเรื่องปริศนาและมีตัวละครชุดเดียวกัน บางครั้งอานนท์ถูกย่อให้สั้นเหลือแค่ “นนท์” หรือ “นันทน์” แต่ความหมายยังคงเดิม จังหวัดนนทบุรีจึงแปลว่าเมืองแห่งความยินดี ส่วนจังหวัดน่านครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่านันทบุรีศรีนครน่าน แปลออกมาแล้วความหมายเหมือนกับนนทบุรี ภาษาเบงกาลีใช้อานนท์ในความหมายเดียวกันแต่อ่านว่า อา-นน-โด

Sompur_Vihar

โสมปุระมหาวิหารในภาค Rajshahi ภาพโดยพนม ทองประยูร

Buddha_at_Dharmarajika

พระพุทธรูปสมเด็จพระพุทธลีลาวดีเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประดิษฐานที่วัดธรรมราชิกาในกรุงธากา
ภาพโดยบุศรา แสดงฤทธิ์

............................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ