ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 49 ศูนย์กลางแห่งพัสตราภรณ์

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 49 ศูนย์กลางแห่งพัสตราภรณ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ธ.ค. 2565

| 2,024 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 49 ศูนย์กลางแห่งพัสตราภรณ์

          สินค้าส่งออกหลักของบังกลาเทศคือเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิตให้แบรนด์เนมต่างประเทศ ในครึ่งแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ไทยได้ประโยชน์ไปด้วยในการเพิ่มยอดส่งออกเส้นใยสำหรับผลิตเสื้อผ้าไปที่บังกลาเทศ

          คำว่าเสื้อผ้าในภาษาเบงกาลีมีหลายคำ หนึ่งในนั้นคือ bastra (พัสตรา) ซึ่งพจนานุกรมไทยแปลว่าผ้า อาทิ กาสาวพัสตร์คือผ้าย้อมฝาดสำหรับถวายพระสงฆ์ ประกอบด้วยสบง จีวร สังฆาฏิ ภาษาไทยนิยมใช้พัสตร์ + อาภรณ์ สนธิเป็นพัสตราภรณ์ หมายถึงเสื้อผ้าและเครื่องประดับ

          คำว่า abharana (อาภรณ์) ทั้งในภาษาไทยและเบงกาลีแปลว่าเครื่องประดับ (ornament) เครื่องราชอิสริยาภรณ์คือเหรียญตราที่ประดับเป็นเกียรติยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงสุดของไทยคือ ราชมิตราภรณ์ มาจาก ราช + มิตร + อาภรณ์ แปลว่าเครื่องประดับสำหรับมิตรของพระราชา

          มิตรและศัตรูเป็นอีกสองคำที่ภาษาเบงกาลีมีความหมายเดียวกับภาษาไทย

          คำว่าเครื่องประดับหรือที่แปลว่าตกแต่งแล้วยังมีคำว่า bhusit (ภูษิต) และ alankara (อลังการ) อาทิ ในคำว่า “ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์” ซึ่งเป็นฉลองพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในพระราชพิธีสำคัญ แปลได้ว่าฉลองพระองค์ที่ประดับตกแต่งสำหรับพระราชา ส่วนอลังการในภาษาไทยมักใช้ต่อท้ายคำว่างดงาม กลายเป็นงดงามอลังการ ใช้พรรณนาถึงสถานที่ที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งตามความหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตโอ่อ่า

          ดินแดนเบงกอลเคยมีชื่อเสียงจากการส่งออกสิ่งทอมาก่อนหน้านี้แล้ว ในศตวรรษที่ 17 และ 18 แคว้น เบงกอลเป็นแหล่งทอผ้ามัสลินที่ดีที่สุดในโลกโดยมีศูนย์กลางที่ธากา โดยเป็นที่นิยมมากในยุโรปและสร้างรายได้ให้เบงกอลอย่างมหาศาล จนกลายเป็นแคว้นที่มั่งคั่งที่สุดของจักรวรรดิโมกุล บริษัทที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่คือ บริษัท East India ของอังกฤษซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เมืองโกลกาตา

          ในยุคปัจจุบัน ผ้ามัสลินไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักของบังกลาเทศแล้ว แต่กลายเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีจุดแข็งจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จึงได้รับยกเว้นภาษีหรือได้รับการปฏิบัติที่ผ่อนปรนกว่าปกติ อย่างไรก็ดี บังกลาเทศจะเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาในปี 2569 ซึ่งจะทำให้การยกเว้นภาษีเหล่านี้ยุติลง และบังกลาเทศต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับสภาพเงื่อนไขใหม่ เช่น อาจจะทำความ ตกลง mukti banijya  (มุกติพาณิชย์) หรือการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ เพื่อลดกำแพงภาษีระหว่างกัน

          ภาษีในภาษาเบงกาลีคือ kara (กอร์) และ sulka (ศุลก) คำหลังหมายถึงภาษีที่เก็บจากการนำเข้าส่งออกสินค้า ตรงกับศุลกากรในภาษาไทย นอกจากศุลกากรแล้ว ยังใช้ในคำว่า “ศุลกสถาน” ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการหลังแรกของกรมศุลกากร อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับสถานทูตฝรั่งเศส บางครั้งเรียกว่าโรงภาษีร้อยชักสาม ตามอัตราการเก็บภาษีในสมัยก่อน

49.1_Cloth_shop

เสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้หลักให้บังกลาเทศ แต่ชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่ยังนิยมแต่งกาย ด้วยชุดพื้นเมือง
ภาพโดยภาณุพันธ์ โชติรังสียากุล

......................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ