ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 5 อัฐยายซื้อขนมยาย

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 5 อัฐยายซื้อขนมยาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,077 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 5 อัฐยายซื้อขนมยาย

          ไทยเรามีสำนวนอัฐยายซื้อขนมยาย หมายถึงการนำเงินของตนไปซื้อของที่ตัวเองเป็นคนขายเหมือนย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ไม่ได้มีรายได้งอกเงยอย่างแท้จริง แบบนี้คงเรียกเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้ แต่น่าจะเป็นเศรษฐกิจหมุนวน คือ วนอยู่ในอ่างไม่ไปไหนเลย

          ไม่แน่ใจว่าเด็ก ๆ รุ่นใหม่จะเคยได้ยินสำนวนนี้หรือไม่ และคงจะไม่รู้จักด้วยว่าอัฐคืออะไร ถ้าเป็นอัฐิอาจจะยังพอคุ้นหูบ้าง อัฐเป็นหน่วยเงินที่เราเคยใช้แต่โบราณ ซึ่งใช้เงินพดด้วงที่น้ำหนักจะต่างกันไป หน่วยเงินจึงมีหลากหลาย อาทิ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง โสฬศ และอัฐ โดยการนับมักจะใช้เฟื้องเป็นหลัก กล่าวคือ 8 อัฐ เท่ากับ 1 เฟื้อง และ 16 โสฬศ เท่ากับ 1 เฟื้อง ระบบนี้ซับซ้อนและทำบัญชียาก จึงได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ 100 สตางค์เป็น 1 บาท ตั้งแต่ปี 2441 เป็นต้นมา แต่คำว่าอัฐยังหลงเหลืออยู่ในสำนวนภาษาไทย หมายถึงเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน บางครั้งก็ใช้ว่าอัฐฬศ ซึ่งคงมาจากอัฐและโสฬศผสมกัน

          ในหัสนิยายเรื่องพล นิกร กิมหงวน ครั้งหนึ่งผู้เขียนคือ ป.อินทรปาลิต ใช้สำนวน “อัฐเย็น” ในบทสนทนาระหว่างเจ้าคุณปัจจนึกพินาศกับนิกรในความหมายว่า นิกรยืมเงินแล้วจะไม่คืนท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นพ่อตา แต่สำนวนนี้คงหมดความนิยมไปแล้วตามธรรมชาติของภาษาที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะถ้าคนสมัยนี้จะสื่อด้วยความหมายเดียวกันคงจะใช้ว่า “ชักดาบ”

          อัฐในภาษาเบงกาลีคือ หมายเลข 8 ออกเสียงตรงกัน และสะกดเกือบเหมือนกัน เพราะเมื่อถ่ายถอดอักษรเบงกาลีเป็นไทยแล้วจะได้เป็น อ อ่าง สระอา ฏ ปฏัก และลำดับที่ 8 คือ ในภาษาไทยมักจะใช้อัฏฐมหรืออัฐม

          เมื่อปี 2539 รัชกาลที่ 9 ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 8 เป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งหมายถึงพระผู้เป็นใหญ่ดุจพระรามพระองค์ที่แปด

          น้ำอัฐบาน คือ น้ำที่คั้นจากผลไม้ 8 ชนิด เช่น มะม่วง หว้า กล้วย ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระภิกษุดื่มได้แม้เลยเวลาเพลไปแล้วถ้าได้รับประเคนมาในวันนั้น

          เมื่อพูดถึงอัฐแล้วต้องพ่วงด้วยโสฬศ ซึ่งแปลว่า 16 และเคยเป็นหน่วยเงินเหมือนอัฐ ใครที่สะสมแสตมป์ต้องรู้จักแสตมป์ชุดโสฬศ ซึ่งเป็นแสตมป์ชุดแรกของสยาม รูปรัชกาลที่ 5 ผินพระพักตร์ด้านซ้าย แสตมป์ชุดนี้มี 6 ดวง ระบุราคา 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว ซีกหนึ่ง สลึงหนึ่ง และเฟื้องหนึ่ง

          คำว่าโสฬศในภาษาไทยสะกดตรงกับตัวสะกดในภาษาเบงกาลี แสดงว่าครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านได้ดูอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าต้นฉบับเขียนอย่างไร อ่านอย่างไร จึงได้สะกดในภาษาไทยให้ตรงกับบาลี สันสกฤต และรวมถึงเบงกาลี ทำให้สืบย้อนไปถึงรูปศัพท์เดิมได้สะดวก อย่างไรก็ดี ในภาษาเบงกาลี โสฬศไม่ใช่จำนวนนับ 16 แต่หมายถึงลำดับที่ 16 เพราะจำนวน 16 ใช้ว่า sholo ส่วนลำดับที่ 16 คือ shorash

196418

196419

บังกลาเทศใช้เงินสกุลตากา ธนบัตรทุกชนิดราคาเป็นภาพ Sheikh Mujibur Rahman ประธานาธิบดีคนแรกและบิดาแห่งชาติ
ธนบัตรมูลค่าสูงสุดคือ 1,000 ตากา (ประมาณ 380 บาท)

................................................

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ