ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 6 โคลงทวาทศมาส

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 6 โคลงทวาทศมาส

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,160 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 6 โคลงทวาทศมาส

          โคลงทวาทศมาสเป็นนิราศที่แต่งในสมัยอยุธยา แต่เรียกโคลงเพราะใช้คำประพันธ์แบบโคลงดั้นคำว่าทวาทศมาสแปลว่าสิบสองเดือน เพราะเนื้อเรื่องเป็นการพรรณนาความอาลัยรักต่อนางในดวงใจโดยใช้ฤดูกาลและประเพณีสำคัญต่าง ๆ ในรอบปีมาประกอบการเล่าเรื่อง

          ในภาษาเบงกาลี คำว่า 12 คือบาโร ไม่มีอะไรเกี่ยวกับทวาทศมาส คำที่เกี่ยวคือ dadash ที่แปลว่าลำดับที่ 12 คำนี้ออกเสียงว่า ดา-ดอช (ศ มีเสียง ช เล็กน้อย) ฟังผ่าน ๆ คนไทยจะนึกไม่ออกเลยว่าคือทวาทศ ต้องไปดูที่รูปศัพท์งจะเห็นว่าเหมือนกัน

          เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในภาษาเบงกาลีไม่มีอักษร ว โดยเฉพาะ แต่ใช้ร่วมกับ บ บางคำออกเสียง บ บางคำกลายเป็น ว หรือไม่ก็ใช้ ภ แทนเสียง ว ในคำว่า dadash พยางค์แรกใช้ตัว ท + บ + า โดย ท กับ บ เป็นพยัญชนะซ้อน คือ เขียนติดกันและต้องออกเสียงเชื่อมกัน  เพราะหากเขียน ท กับ บ ตามแบบปกติจะต้องออกเสียงว่า ดอ-บา แต่พอกลายเป็นพยัญชนะซ้อน อ่านว่า ดะ-บา อย่างไรก็ดี คนเบงกาลีนั้นพูดเร็วและมีหลายคำที่ไม่ออกเสียงครบทุกตัวอักษร ดังนั้น ดะ-บา-ดอช ที่ไม่ออกเสียง บ จึงกลายเป็น ดา-ดอช

          เสียง บ และ ว ที่ใช้สลับกันได้นั้นมีปรากฏในอีกหลายภาษา บางภาษาใช้สลับกับ พ ได้อีกด้วย เช่น ภาษาไทย มีหลายคำที่เข้าข่ายนี้ อาทิ เวลา - เพลา วรรณ - พรรณ วีระ - พีระ ซึ่งความหมายยังคงเดิม แต่มีอยู่  คำหนึ่งที่มีทั้งความหมายเดียวกันและที่ต่างกันไปไกล คือ ประเพณี - ประเวณี ส่วนในภาษาสเปน ออกเสียง v (ว) เป็น b (บ) เช่น Seville (เซบีญา) Valencia (บาเลนเซีย) Vamos (บามอส)

          หลายคนที่เคยสับสนว่า ทวาทศคือ 12 หรือ 20 เพราะมีทั้ง 2 (ทวา) และ 10 (ทศ) ในคำเดียวกันน่าจะหมดความสงสัยแล้ว คราวนี้อาจมีคำถามว่า แล้ว 20 ของเบงกาลีคืออะไร คำตอบคือ kurhi และ bish มีสองคำให้เลือกใช้ตามใจชอบ

          ภาษาไทยมีคำว่า กุลี ที่น่าจะมาจาก kurhi ซึ่งไม่ใช่แรงงานรับจ้างแบกหาม แต่หมายถึงผ้าที่ห่อรวมกันมัดละ 20 ผืน เป็นศัพท์ที่น่าจะเหลือคนใช้เป็นอยู่ไม่มากแล้ว

S__2146350

ชาวบังกลาเทศจำนวนมากยังแต่งชุดพื้นเมืองในชีวิตประจำวัน ผู้ชายแต่งชุดปันจาบี ส่วนผู้หญิงที่ไปร่วมพิธีสำคัญอาจจะแต่งส่าหรี แต่ถ้าไปทำงานหรือไปเที่ยวอาจจะแต่งชุด shalwar kameez ซึ่งประกอบด้วยเสื้อแขนยาวชายเสื้อคลุมกางเกงผ้าขาสอบ ชุดลักษณะนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศในเอเชียใต้

ภาพประกอบโดยบุศรา แสดงฤทธิ์ เลขานุการโท กุสุมา สารีบุญฤทธิ์ เลขานุการโท และศิวพล กิตติวงศากูล เลขานุการโท

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ