ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 8 วิกาลโภชนา เวรมณี

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 8 วิกาลโภชนา เวรมณี

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,598 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 8 วิกาลโภชนา เวรมณี

          ศีล 8 ข้อ 6 คือ วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ หมายถึงเว้นจากการกินในยามวิกาล (หลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่) แต่ในพจนานุกรมกำหนดความหมายของวิกาลว่าเป็นยามค่ำคืนดึกดื่น อาคันตุกะยามวิกาลมักเป็นผู้ที่มาอย่างไม่ประสงค์ดีหรือเป็นสิ่งลึกลับชวนให้นอนคลุมโปง

          วิกาลเป็นช่วงไหนของวันกันแน่

          เมื่อย้อนดูในภาษาเบงกาลี เขามีคำว่า bikel byala ที่แปลว่ายามบ่าย bikel คือวิกาล และ byala ก็คือเวลา ยังจำได้ใช่มั้ยครับว่า บ กับ ว ออกเสียงสลับกันได้ บิ-เกล กับ วิกาล และ เบ-ลา กับ เวลา จึงเป็นแฝดฝาเดียวกัน ดังนั้น วิกาลเวลาแต่ดั้งเดิมจึงหมายถึงช่วงบ่าย เมื่อพระธรรมวินัยกำหนดให้ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันอะไรยามวิกาล จึงเริ่มนับตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป การถวายภัตตาหารเพลเลยนิยมถวายตอน 11 โมง เพื่อให้พระท่านมีเวลาฉันให้เสร็จก่อนเที่ยง

          ภาษาเบงกาลีมีอีกคำที่ใช้เหมือนภาษาไทย คือ sondha byala อ่านว่า ซอน-ดา เบ-ลา หมายถึงยามเย็น ซึ่งภาษาไทยอ่านตามรูปศัพท์ว่าสนธยา แต่เบงกาลีอ่าน ซอน-ดา เพราะตัว น กับ ธ เขียนแบบพยัญชนะซ้อน และไม่ออกเสียง ธ คนไทยเราใช้สนธยาในภาษากวีและวรรณกรรม เพราะเรามีคำว่ายามเย็นอยู่แล้วในภาษาไทยเดิม ถ้าเราไปถามเพื่อนว่าสนธยานี้เราไปคาราโอเกะกันมั้ย เพื่อนคงนึกในใจว่าไปดูลิเกท่าจะเหมาะกว่า

          นอกจากนี้ ยังมี ratri byala ที่หมายถึงยามค่ำคืน ส่วนมากจะใช้แบบสั้นเหลือแค่ rat อ่านว่า ราด สรุปว่าตั้งแต่บ่าย เย็น และกลางคืน ภาษาเบงกาลีใช้คำที่มีในภาษาไทยด้วย ส่วนช่วงเช้าใช้คำว่า sakal (ซอกาล) ซึ่งเราไม่มี

          อีกคำหนึ่งที่ตรงกันคือ สมัย (samay) แปลว่าเวลาเหมือนกัน แต่ไทยเราใช้ในความหมายของช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวนานเป็นยุค เช่น สมัยโบราณ สมัยสงครามโลก แต่ในภาษาเบงกาลี สมัยคือเวลาตามเข็มนาฬิกา (time) ที่ล่วงเลยไปเรื่อย ๆ เมื่อจะบอกว่าตลอดเวลาก็ใช้คำว่า sob samay (sob แปลว่าทั้งหมด) ซึ่งในภาษาไทยมีใช้เช่นกัน แต่ตัวอย่างเดียวที่นึกออกคือพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย  

          tren samayasuchi (เตรนสมัยสูจิ) คือ ตารางเวลารถไฟ เบงกาลีเรียกรถไฟโดยทับศัพท์อังกฤษ และสูจิแปลว่ารายการเหมือนในคำว่าสูจิบัตรที่หมายถึงรายการแสดง

161925

คนแจวเรือในแม่น้ำ Buriganga ยามสนธยา แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญระหว่างกรุงธากากับต่างจังหวัด มีท่าเรือหลักอยู่บริเวณเมืองเก่าซึ่งเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยอาณาจักรโมกุล

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ