ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 16 นรกและสวรรค์

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 16 นรกและสวรรค์

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 เม.ย. 2565

| 1,306 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 16  นรกและสวรรค์

          เรื่องของนรก สวรรค์ มีอยู่ในทุกความเชื่อ เคยสงสัยเหมือนกันว่าถ้านับถือศาสนาต่างกันจะได้ขึ้นสวรรค์เดียวกันหรือไม่ ซึ่งคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ ไทยกับเบงกาลีเรียกนรกกับสวรรค์เหมือนกัน

          Naraka คือนรก รูปศัพท์เบงกาลีสะกดและออกเสียงเหมือนนรกไทย และยังมีคำอื่น ๆ ด้วย อาทิ patal (บาดาล) dojakha (โด-ชก) jahannama (จา-ฮาน-นาม) ซึ่งสองคำหลังยังนึกคำที่เชื่อมโยงในภาษาไทยไม่ออก ส่วนบาดาลนั้นชัดเจน แต่บาดาลของไทยไม่ใคร่หมายถึงนรกที่มีกระทะทองแดงเท่าไหร่นัก แต่จะหมายถึงโลกใต้น้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของนาค หรือหมายถึงพื้นที่ใต้ระดับผิวดินลงไป ถ้าเราสูบน้ำได้จากใต้ดินในระดับที่ลึกกว่า 10 เมตร ก็เรียกว่าน้ำบาดาล

          บาดาลของคนเบงกาลีแปลว่าใต้ดินเช่นเดียวกัน ส่วนนัยยะที่เกี่ยวกับนรกนั้น คนเบงกาลีอธิบายว่าเป็นความหมายโดยอ้อม จากการที่เชื่อกันว่านรกอยู่ใต้พิภพเลยนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของบาดาลไปด้วย

          เบงกาลียังมีคำที่ใช้เรียกภูตผีปีศาจ คือ pret (เปรต) และ bhuta (ภูต) รวมทั้งมีคำว่า pretlok (เปรตโลก) ที่หมายถึงโลกหลังความตายกลายเป็นผีไปแล้ว

          คู่กับนรกคือสวรรค์ เบงกาลีใช้ว่า sbargo อ่านว่า ชาร-โก ฟังให้ตายก็เดาไม่ออกว่าเป็นคำเดียว กับสววรค์ ต้องไปดูการสะกดคำ ยังไม่ลืมใช่มั้ยครับว่า บ กับ ว เป็นเสียงที่ใช้สลับกันได้ เบงกาลีพูดคำนี้โดยไม่ออกเสียง บ แต่คนไทยรับมาใช้โดยเก็บเสียง ว เอาไว้เลยกลายเป็นสวรรค์ ตัว ค ในพยางค์หลังนั้นเป็น ค เดียวกัน แต่ด้วยสำเนียงแขกจะออกเสียงหนักกว่าค่อนไปทาง ก มากกว่า ค

          เสียง ว เหมือนจะเป็นตัวเจ้าปัญหาในภาษาเบงกาลี เพราะไม่มีอักษรที่เป็นเสียง ว เฉพาะตัว เวลาถอดคำภาษาอังกฤษที่มีตัว v เป็นเบงกาลี จึงต้องใช้ ภ เช่น Corona virus จะเขียนว่า “โคโรนา ภาอิราส” และไอศกรีมรส red velvet กลายเป็น “เรฑ เภลเภฏ” เจ้าของภาษาเขายืนยันว่าออกเสียงเป็น ว แต่ฟังทีไรก็ได้ยินเป็น ว แบบแทงกั๊ก ค่อนไปทาง ภ เสียมากกว่า

          ส่วนเทวดาในภาษาเบงกาลีมีหลายคำ เช่น debata, deba, debaduta และ sargoduta ถ้าออกเสียงให้เข้ากับภาษาไทยก็คือ เทวดา เทวา เทวทูต และสวรรคทูต

219147

International Buddhist Monastery เป็นวัดพุทธที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงธากา ได้รับมอบที่ดินจากรัฐบาลบังกลาเทศเพื่อสร้างวัด พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะไทยเพราะวัดมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวัดและพุทธศาสนิกชนในไทย
ภาพโดยบุศรา แสดงฤทธิ์

219148

Gulshan Central Mosque หรือ Azad Mosque เป็นมัสยิดในเขต Gulshan ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ สถานทูต และที่พักอาศัยของผู้มีฐานะดีในกรุงธากาคล้ายย่านสุขุมวิทของกรุงเทพฯ
ภาพโดย Md. Sunviraz Hassan เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสถานทูต

219149

Armenian Church เป็นโบสถ์คริสต์ของชุมชนอาร์มีเนียที่ก่อตั้งเมื่อปี 2324 ก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ 1 ปี และเป็นหลักฐานของความหลากหลายทางเชื้อชาติในดินแดนเบงกอล ปัจจุบันไม่มีบาทหลวงอยู่ประจำและไม่มีการประกอบพิธีใด ๆ มาหลายปีแล้ว มีเพียงชาวฮินดูเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยของสถานที่
ภาพโดยศิวพล กิตติวงศากูล

 

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ