ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 2 ประถมาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 2 ประถมาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,213 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 2 ประถมาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย

          บทความชุดนี้ขอเริ่มต้นด้วยตัวเลข ซึ่งมี 2 แบบ คือ เป็นจำนวนนับ หนึ่ง สอง สาม ภาษาเบงกาลีใช้ว่า เอก (ek) ดุย (dui) ติน (tin) กับจำนวนแสดงลำดับที่เหมือนในภาษาอังกฤษมี first second third      ซึ่งคำเบงกาลี ได้แก่ ประถม (prothom) ดีติโย (ditiyo) และตริติโย (tritiyo)

          ตัวอย่างในภาษาไทยที่ขอนำเสนอ คือ การกำหนดชั้นตราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งมีอยู่หลายตระกูล แต่ข้าราชการพลเรือนจะคุ้นเคยกับตระกูลช้างเผือกและมงกุฎไทยมากที่สุด เพราะเป็นบำเหน็จความชอบที่ข้าราชการทุกคนมีสิทธิได้รับพระราชทานเมื่อปฏิบัติราชการด้วยความขยันหมั่นเพียรมาครบกำหนดเวลา โดยจะได้รับตระกูลมงกุฎไทยก่อน แล้วจึงได้รับชั้นเดียวกันในตระกูลช้างเผือก ขยับเป็นชั้นที่สูงขึ้นของมงกุฎไทย ต่อด้วยช้างเผือก สลับกันอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นสูงสุดของช้างเผือก

          เครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละชั้นมีชื่อเรียกเฉพาะให้รู้ว่าเป็นชั้นที่เท่าไหร่ ชั้นที่หนึ่งคือ ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่สองคือทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ประถมและทวีติเป็นคำเดียวกับภาษาเบงกาลี ซึ่งรับมาจากสันสกฤตอีกต่อหนึ่ง แต่ความต่างน่าจะอยู่ที่ในภาษาไทย คำจาก “ภาษาแขก” มักจะถูกใช้ในวรรณกรรมหรือภาษาทางการ แต่เบงกาลีใช้ในภาษาประจำวัน อาทิ ประถเมก็หมายถึง “ในเบื้องต้น” และเป็นคำศัพท์ในการพูดทั่วไป ส่วนคำว่าชั้นที่สอง แม้เบงกาลีอ่านว่า ดีติโย แต่ถ้าถ่ายถอดตามการเขียนแล้ว จะได้เป็นทวีติโย เพราะ ว ถูกลดเสียงไป และตัว ท ทหาร  ในภาษาเบงกาลีออกเสียงหนักเป็น ด เด็ก

          เรื่อง ท ทหาร ออกเสียงเป็น ด เด็ก ทำให้นึกถึงบทสวดมนต์ของวัดธรรมยุตในประเทศไทย ซึ่งจะเคร่งครัดเรื่องการออกเสียงให้ตรงกับภาษาบาลีดั้งเดิม อาทิ ทันตา อ่านว่า ดันตา อุปปะสัมปะทัง อ่านว่าอุปปะสัมปะดัง นอกจากนี้ เสียง พ ก็ให้ออกเสียง บ ด้วย เช่น พุทโธ อ่านว่า บุดโธ

          สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่สาม คำจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว เพราะเราใช้ตริตาภรณ์ช้างเผือกและตริตาภรณ์มงกุฎไทย แต่จะใกล้เคียงกับชั้นที่สามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้ามากกว่า คือ ตติยจุลจอมเกล้า

          มีอีกหนึ่งคำที่ภาษาไทยนำคำว่าประถมมาใช้ คือ ประถมศึกษา หมายถึงการศึกษาในระดับต้น เข้าใจว่าพยายามหาคำที่สอดคล้องกับภาษาอังกฤษว่า primary education คำนี้ใกล้เคียงกับที่ใช้ในบังกลาเทศซึ่งเรียกโรงเรียนประถมว่า prathamik bidyalaya หรือประถมิกพิทยาลัย

205155

 บรรยากาศในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในบังกลาเทศ ซึ่งมีโครงการทำสวนเกษตรบนดาดฟ้า

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ