ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 27 มนุษย์ บุรุษ สตรี

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 27 มนุษย์ บุรุษ สตรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.ค. 2565

| 806 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 27 มนุษย์ บุรุษ สตรี

          มนุษย์แปลว่าผู้มีจิตใจสูงหรือรู้จักคิดเหตุผล คนไทยใช้คำนี้ในบางบริบท เช่น คำสอนทางศาสนา การแพทย์ แต่ไม่ใช้ในการสนทนาทั่วไป ถ้าเราขับรถแล้วมีคนวิ่งตัดหน้า เพื่อนที่นั่งมาด้วยคงไม่ตะโกนว่า “เฮ้ย! ระวังมนุษย์” ฟังแล้วสมองต้องประมวลผลอีก 5 วินาทีว่าหมายถึงอะไร

          ภาษาเบงกาลีใช้ manusa ในความหมายว่าคนหรือบุคคลโดยทั่วไป ไม่ได้ใช้เฉพาะในบางสถานการณ์หรือวงการเหมือนมนุษย์ของไทย ช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิด-19 และทางการให้หยุดบริการขนส่งสาธารณะทั้งหมด ชาวบังกลาเทศจำนวนมากเลือกที่จะเดินเท้าเข้ามาในตัวเมืองเพื่อกลับมาทำงาน หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า আজও রাজধানীতে ফিরছে মানুষ แปลตามศัพท์ว่า วันนี้มนุษย์ยังเดินทางกลับเข้าราชธานี

          ขอแทรกเรื่องของราชธานี (rajadhani) ว่าหมายถึงเมืองหลวง กรุงธากาจึงเป็นราชธานีของบังกลาเทศ ไทยมี 5 จังหวัดที่มีคำว่า “ธานี” ต่อท้าย ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี และปทุมธานี แต่มีอุบลราชธานีแห่งเดียวที่ใช้ “ราชธานี” ในฐานะที่เคยเป็นเมืองประเทศราช และมีชื่อเต็มว่า “อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช”

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ 4 มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ แปลได้ว่าคนผู้เป็นนาคในมนุษย์ ด้วยเหตุว่าตอนที่ประสูติมีฝนตกใหญ่จนน้ำนองตำหนัก รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตดีเหมือนคราวที่มุจลินทนาคราชแผ่พังพานเหนือพระเศียรพระพุทธเจ้าเพื่อมิให้ถูกฝนซึ่งตกอยู่ 7 วัน จึงพระราชทานชื่อให้เป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

          สิทธิมนุษยชนใช้ว่า manabhadikara ส่วนประชากรใช้คำว่า jana (คน) มาประกอบกับ sankhya (จำนวน) กลายเป็น janasankhya อ่านว่า จน-นะ-ช็อง-คา เพราะตัว ย ถูกลดเสียงไป ในภาษาไทย เราออกเสียง sankhya ตามรูปว่า สัง-ขะ-หยา ซึ่งไม่ได้เอาไว้จิ้มกับขนมปังเท่านั้น แต่ใช้ระบุเวลา มักพบในเอกสารโบราณ งานวรรณกรรม หรือตำราโหราศาสตร์ อาทิ เวลาย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท หมายถึง 8.30 น. เพราะ 1 บาทเท่ากับ 6 นาที 5 บาท เท่ากับ 30 นาที เศษสังขยาจึงเป็นการบอกจำนวนนาที

          บังกลาเทศมีประชากรมากกว่า 160 ล้านคน มากเป็นอันดับ 8 ของโลก เชื่อกันว่าคำว่าเบงกาลีมาจากคำที่ชาวเปอร์เซียใช้เรียกดินแดนบริเวณนี้ในอดีตคือ Bangalah ซึ่งอาจจะมาจากชื่ออาณาจักร Vanga โดยบันทึกของราชวงศ์โจละในศตวรรษที่ 11 ก็เคยกล่าวถึงกษัตริย์โควินทจันทร์ว่าเป็นผู้ปกครองอาณาจักร Vangaladesa

          ผู้ชายในภาษาเบงกาลีคือบุรุษ (purusa) สุภาพบุรุษคือภัทรโลก (bhadraloka) ผู้หญิงคือโมหิลา (mahila) ส่วนคำว่าสตรี (stri) แปลว่าภริยา คู่กับสามี (sbami) บังกลาเทศมีประชากรบุรุษกับโมหิลาในสัดส่วนเกือบครึ่งต่อครึ่ง โดยมีผู้ชายมากกว่าเล็กน้อย ในอดีตบังกลาเทศเคยมีอัตราเพิ่มของประชากรที่สูงมาก แต่ชะลอตัวลงตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาเพราะรัฐบาลประสบความสำเร็จในการวางแผนครอบครัว

237401

พนักงานบริการในร้านอาหารและโรงแรมในบังกลาเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่วนคนขายดอกไม้เกือบทั้งหมดก็เป็นผู้ชาย สันนิษฐานว่าสังคมเบงกอลแต่โบราณไม่นิยมให้ผู้หญิงทำงานที่ต้องพบปะคนหมู่มาก
ภาพโดยอิศเรศ แก้วเคลิ้ม พนักงานสถานเอกอัครราชทูต

237403

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองและเศรษฐกิจบังกลาเทศ โดยเป็นแรงงานหลักในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอ นอกจากนี้ NGO หลายแห่งมีโครงการส่งเสริมอาชีพให้ผู้หญิง เช่น การทำผลิตภัณฑ์จากปอกระเจา
ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่ Cox’s Bazar
ภาพโดยพนม ทองประยูร

**********************************