ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 36 วิชาความรู้

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 36 วิชาความรู้

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ก.ย. 2565

| 1,711 view

ทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 36  วิชาความรู้

          มีวิชาความรู้หลายแขนงที่บัญญัติศัพท์จากภาษาบาลีสันสกฤต อย่างน้อยคำว่า “วิทยา” ที่ต่อท้ายชื่อวิชาต่าง ๆ ก็เป็นภาษาแขกที่แปลว่าความรู้ ในภาษาเบงกาลีใช้คำเดียวกันคือ bidya แต่ออกเสียงเป็น บ ว่าบิด-ดา (bidya) โรงเรียนคือ bidyalaya อ่านว่า บิด-ดา-ลัย มหาวิทยาลัยเรียกว่า bisbabidyalaya อ่านว่า บิส-ชอ-บิด-ดา-ลัย (อ่านความเป็นมาของ bisba ได้ในตอนที่ 13 ลมฟ้าอากาศ)

          คำว่าความรู้ ภาษาเบงกาลีใช้ jyana วิทยาศาสตร์คือ bijyana ถ้าเขียนแบบไทยน่าจะเป็นวิชญาณ คนไทยหลายคนมีชื่อที่มีรากศัพท์จากคำนี้ เช่น วิชญาณี วิชญ์ พิชญ์ ชญา ซึ่งล้วนแปลว่าผู้มีความรู้ ส่วนคำว่าศึกษาใช้ siksa แต่อ่าน sikkha ในภาษาไทยเราใช้สิกขาแต่ตอนขอสึก คือ ลาสิกขา

          นักเรียนในภาษาเบงกาลีเรียกว่า chatro นักเรียนหญิงคือ chatri และมีคำว่า sisya หรือศิษย์ ใช้ในความหมายของศิษย์ในสำนักเรียนแบบโบราณ (disciple) ไม่ใช่นักเรียนในระบบการศึกษาสมัยใหม่

          ชีววิทยาในภาษาเบงกาลีคือ jibabijyana ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก เคมีคือ rasayana หรือรสายน คำนี้ภาษาไทยใช้รสายนเวท (ระ-สา-ยะ-นะ-เวด) หมายถึงวิชาประสมแร่แปรธาตุ (alchemy) ที่เป็นที่นิยมในจีน อินเดีย และยุโรปสมัยโบราณ เพื่อหาทางปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของสสาร เช่น ทำทองแดงให้เป็นทองคำ หาวิธีทำยาอายุวัฒนะ เป็นต้น น่าจะคล้าย ๆ กับที่เรียนกันในโรงเรียน Hogwarts ของ Harry Potter เบงกาลีใช้ “รสายน” กับทั้ง alchemy และ chemistry

          คณิตศาสตร์ คือ ganita การคำนวณใช้ ganana ถอดเสียงเป็นไทยได้ว่าคณนา ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่าคำนวณเหมือนกัน แต่ไม่ใช่การคำนวณตัวเลข เพราะมักใช้กับการประเมินสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีมากมายจนนับไม่ได้ โคลงโลกนิติมีบทหนึ่งบรรยายว่า “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้ เขาสูงอาจวัดวา กำหนด จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง” เป็นการเปรียบเปรยว่าแม้มหาสมุทรจะลึกปานใดแต่ยังวัดได้ แต่ใจคนนั้นลึกลับจนไม่อาจหยั่งถึงได้เลย ganana เป็นรากศัพท์ของ gananik ที่แปลว่านักบัญชีหรือเครื่องคิดเลข

          วิชาพีชคณิตที่ฝรั่งเรียกว่า algebra ก็เป็นคำเดียวกับเบงกาลี bijaganit มาจาก bija (เมล็ดพันธุ์พืช) + ganit (คณิต) สารานุกรมไทยอธิบายว่าเพราะแต่ก่อนคนอินเดียใช้พีชคณิตช่วยคำนวณการเพาะปลูก

          วิศวกรรมศาสตร์ คือ yontrabijyana (ยนตรวิชญาณ)

          เภสัชศาสตร์ คือ osudhabijyana (โอสถวิชญาณ)

          จิตวิทยา คือ manobijyana (มโนวิชญาณ)

          สถาปัตยกรรมศาสตร์ คือ sthapatyabijyana (สถาปัตยวิชญาณ) สถาปนิกเรียกว่า sthapati หรือสถาบดี

          สำหรับวิชาทางศิลปะ อาทิ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ฝั่งเบงกาลีใช้คำว่า “ศิลปะ” ศิลปินใช้คำว่าศิลปี เช่น นักดนตรีคือ sangitasilpi หรือสังคีตศิลปี เพลงชาติคือ “ชาติโยสังคีต” (อ่านเกี่ยวกับเพลงชาติบังกลาเทศได้ในตอนที่ 30 และ 31 เบงกอลแผ่นดินทอง) ส่วนที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของไทยตรงสนามหลวงมีเวทีการแสดงกลางแจ้งชื่อว่า “สังคีตศาลา” ซึ่งศิลปินจากกรมศิลปากรจะไปแสดงเป็นครั้งคราว

257572

มหาวิทยาลัยธากาเปิดสอนสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ใน 13 คณะ
ภาพโดย Finish Toju พนักงานขับรถสถานเอกอัครราชทูต

..............................................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ