ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 40 ป่าสุนทรวัน

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 40 ป่าสุนทรวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565

| 566 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 40  ป่าสุนทรวัน

          บังกลาเทศมีป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อว่า Sundarbans ถอดเสียงเป็นสำเนียงไทยได้ว่า “สุนทรวัน” แปลว่าป่างาม คำว่า sundara (สุนทร) แปลว่าสวยงาม พอเปลี่ยนเป็นคำนามกลายเป็น saundarya หรือสุนทรีย์ ส่วน ban คือป่า ในภาษาไทยมีใช้ทั้ง “พน” และ “วน” เช่น คณะวนศาสตร์ เขาดินวนา หรือในบทร้อยกรอง อาทิ “จงจรเที่ยว เทียวบทไป พงพนไพร ไศลลำเนา ดั้นบถเดิน เพลินจิตเรา แบ่งทุขเบา เชาวนไว” จากเรื่องนิทานเวตาล ที่แต่งโดย น.ม.ส.

          ป่าสุนทรวันมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 ประเทศ คือ บังกลาเทศและอินเดีย ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำปัทมา (แม่น้ำคงคาเมื่อไหลสู่บังกลาเทศเปลี่ยนชื่อเป็นปัทมา) พรหมบุตร และเมฆนา เป็นถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งเบงกอล ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณค่าของพื้นที่นี้ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ครั้งแรกเมื่อปี 2530 และต่อมาได้รับการขยายพื้นที่มรดกโลกในปี 2540

          สิ่งแวดล้อมในภาษาเบงกาลีใช้คำว่า paribes (ปริเวศ) บังกลาเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายที่น่าชื่นชมในการควบคุมปริมาณถุงพลาสติก เพราะเวลาไปซื้อของตามร้านหรือในห้าง เขาจะใช้แต่ถุงกระดาษสีน้ำตาลและถุงผ้า เช่น ถ้าซื้อผักผลไม้ที่ต้องชั่งน้ำหนัก คนขายจะใส่ถุงน้ำตาลให้ และเมื่อไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ พนักงานจะใส่ของทั้งหมดในถุงผ้าโดยไม่คิดเงินเพิ่ม

          หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีชื่อเบงกาลีว่ากระทรวงปริเวศ วนา และชลวายุปริวรรต (ดูชื่อกระทรวงอื่น ๆ ได้ในตอนที่ 23 มนตรณาลัย) คำสุดท้ายคือ climate change ประกอบด้วย ชลวายุ (jalabayu) แปลว่าภูมิอากาศ และปริวรรต (paribartana) ซึ่งแปลว่าหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง เหมือนในภาษาไทย น่าสังเกตว่า คำว่า climate ที่ไทยใช้ภูมิอากาศนั้น เราให้ความสำคัญกับแผ่นดิน (ภูมิ) และอากาศ ในขณะที่ภูมิอากาศของเบงกาลีมาจากการรวมกันของน้ำ (ชล) กับลม (วายุ) โดยไม่ได้ใช้คำว่าอากาศ (aakash) ที่แปลว่าท้องฟ้า (ดูตอนที่ 13 ลมฟ้าอากาศ)

          คำว่าปริวรรตในภาษาไทยจะพบได้บ่อยเมื่อพูดถึงการแลกเปลี่ยนเงินตรา อาทิ ตลาดปริวรรตเงินตรา (foreign exchange market) หมายถึงตลาดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่าง ๆ อีกคำหนึ่งที่รากศัพท์เดียวกันคือ “บริพัตร” ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

          มีคำที่คล้ายกับ paribes (ปริเวศ) คือ prabesh (ประเวศ) แปลว่าทางเข้า คำนี้จะเห็นบ่อยตามประตูทางเข้าอาคารในบังกลาเทศ คำเต็มคือ prabeshdbara หรือประเวศทวาร หมายถึงประตูทางเข้า อีกคำคือ prabesh nisedh (ประเวศ นิเสธ) ที่แปลว่าห้ามเข้า ในภาษาไทย “ประเวศ” แปลว่า การเข้าสู่ การเข้ามามีปรากฏในชื่อคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเชื่อมคลองพระโขนงกับแม่น้ำบางปะกง   มีความหมายว่าคลองที่มุ่งเข้าสู่เมือง และปัจจุบันยังเป็นชื่อเขตประเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณจุดเริ่มต้นของคลองประเวศบุรีรมย์ด้วย

266446

เรือเป็นยานพาหนะที่สะดวกที่สุดสำหรับเดินทางใน Sundarbans นักท่องเที่ยวสามารถนอนค้างในเรือเพื่อชื่นชมบรรยากาศยามเช้า
ภาพโดยพนม ทองประยูร

266447

สภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งหลายแห่งละลาย แต่ Perito Moreno ในอาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งไม่กี่แห่งที่ยังมีมวลน้ำแข็งเกือบเท่าเดิม
ภาพโดยพนม ทองประยูร

.............................................