ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 46 แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 46 แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,610 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 46  แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง

          ภาษาไทยและเบงกาลีมีคำศัพท์เกี่ยวกับภยันตรายต่าง ๆ ที่เหมือนกันอยู่หลายคำ เช่น bipada (พิบัติ) และ binash (พินาศ) ภาษาไทยใช้ทั้งวิบัติและพิบัติ แต่พิบัติมักใช้กับภัยธรรมชาติ รวมกันเป็นภัยพิบัติ ส่วนวิบัติหมายถึงความหายนะ ความเคลื่อนคลาด บางครั้งใช้กับการกระทำที่ผิดเพี้ยนไปจากแบบแผน เช่น ภาษาวิบัติ

          อารมณ์กลัวในภาษาเบงกาลีคือ bhaya (ภัย) (ดูตอนที่ 18 รัก โลภ โกรธ หลง) เบงกาลีเรียกวิกฤตว่า bipadakala (พิบัติกาล) เพราะเป็นช่วงเวลาที่เกิดอันตรายคุกคามเราอยู่

          ภัยธรรมชาติที่บังกลาเทศประสบทุกปีคือน้ำท่วม เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำจากเทือกเขาหิมาลัยไหลผ่านไปลงอ่าวเบงกอลหลายสาย ทั้งยังเป็นเขตมรสุมที่มีพายุไซโคลนเป็นแขกประจำ แม่น้ำสายหลักในบังกลาเทศมีขนาดกว้างเป็นกิโล เช่น แม่น้ำปัทมา การสร้างสะพานรถยนต์และรถไฟข้ามแม่น้ำปัทมาเลยกลายเป็นโครงการขนาดใหญ่

          อีกคำที่เกี่ยวกับภัยพิบัติคือ binash (พินาศ) ภาษาไทยมักใช้ว่าพังพินาศ แปลว่าเสียหายย่อยยับ และมีคำว่าวินาศภัย ที่พจนานุกรมนิยามว่า ความเสียหายอย่างใด ๆ ที่พึงประมาณเป็นเงินได้ ส่วน bikriti (วิกฤติ) ของเบงกาลีไม่เหมือนวิกฤติของไทย แต่หมายถึงความผิดเพี้ยนทางภาษา (language corruption) หรือการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ (historical distortion)

          นอกจากภัยน้ำท่วมแล้ว บังกลาเทศไม่ค่อยประสบภัยธรรมชาติอื่น ๆ มากนัก นานทีปีหนจึงจะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งภาษาเบงกาลีเรียกว่า bhumikampa (ภูมิกอมโป) คำว่า kampa แปลว่าสั่นสะเทือน เหมือนในคำว่ากัมปนาทที่หมายถึงเสียงดังสนั่นหวั่นไหว บังกลาเทศไม่มี agneyagiri (อัคนียคีรี) หรือภูเขาไฟ แต่เคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่หลายครั้งในโรงงาน อัคคีภัยเรียกว่า agnisanyoga (อัคนีสังโยค) ในภาษาไทย หินอัคนีซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของลาวาแปลว่าหินไฟ

          เภทภัยในภาษาไทยหมายถึงภัยต่าง ๆ แต่ถ้าแยกเฉพาะคำว่า “เภท” จะแปลว่าการแบ่งแยก การแตกออก เช่น สังฆเภท (การทำให้สงฆ์แตกแยก) และจิตเภท (มีการรับรู้ที่แบ่งแยก ทำให้มีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความจริง) ในเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธแสร้งขับไล่วัสสการ พราหมณ์ไปแคว้นลิจฉวี เพื่อหาโอกาสยุแยงให้เหล่ากษัตริย์แห่งลิจฉวีแตกสามัคคีกัน ในภาษาเบงกาลีคำว่า bibhed (วิเภท) มีความหมายเดียวกัน และยังมีคำว่า bhedabed (เภทาเภท) ที่แปลว่าการเลือกปฏิบัติด้วย (แต่คนบังกลาเทศบางคนก็บอกว่าคำนี้มีความหมายกลางๆ หมายถึงความแตกต่างเท่านั้น)

          สิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความร้าวฉานได้คือความสามัคคี ดังคาถาในตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา” แปลว่าความพร้อมเพรียงแห่งหมู่ชน ยังความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จ ผูกถวายโดยสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม คำที่น่าสนใจคือสังฆภูตานัง “สังฆ” ในพจนานุกรมไทยมีความหมายเดียวคือพระสงฆ์ แต่บาลีสันสกฤตยังแปลว่าหมู่หรือฝูงได้ด้วย เบงกาลีมีคำที่คล้ายกัน คือ sangha แปลว่าการรวมกัน การเป็นพันธมิตร มีใช้ในชื่อของสหประชาชาติที่เรียกว่า Jatisangha หรือชาติสังฆะ

46._Plain

.........................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ