ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 48 City Corporation

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 48 City Corporation

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ธ.ค. 2565

| 1,817 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 48  City Corporation

          บังกลาเทศมีส่วนปกครองท้องถิ่นแบบหนึ่งที่เรียกว่า City Corporation ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่งได้สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้คนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับระบบนี้ เมื่อค้นหาข้อมูลจึงพอจะเข้าใจว่ามีรูปแบบคล้ายเทศบาล มีตามเมืองใหญ่ นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เช่น กรุงธากาที่แบ่งเป็น North City Corporation และ South City Corporation

          คนบังกลาเทศบอกว่า สมัยก่อนเคยเรียกหน่วยปกครองแบบนี้ว่า paurasabha (อ่านว่า โป-โร-สภา)   แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า municipality ในภาษาไทยมีคำโบราณอยู่คำหนึ่งว่า “โปรีสภา” เป็นชื่อของศาลโปรีสภาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอำนาจพิจารณาคดีลหุโทษ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นศาลแขวง พจนานุกรมของ อ.เปลื้อง ณ นคร แปลโปรีสภาว่าที่ประชุมของชาวเมือง ดังนั้น โปรีสภากับโปโรสภาจึงอาจมีความเชื่อมโยงกัน

          ผู้บริหารสูงสุดของ City Corporation คือ Mayor ใช้ทับศัพท์อังกฤษ เบงกาลีไม่ได้ใช้ “นายก” กับตำแหน่งทางการบริหารเหมือนไทย แต่ใช้ในความหมายว่า ผู้นำ เจ้านาย กัปตันเรือ หรือกัปตันทีมกีฬา เช่น กัปตันทีมคริกเก็ต ซึ่งเป็นกีฬามหาชนในบังกลาเทศ จะได้รับตำแหน่ง “อธินายก” ประจำทีม แต่ถ้าเป็น “เอกนายก” จะกลายเป็นเผด็จการ (dictator)

          ผู้อำนวยการเรียกว่า paricalaka (ปริจาลก) ถ้าเป็นอธิบดีได้เป็นมหาปริจาลก ทั้งสองคำมีรากศัพท์มาจาก paricalna ที่แปลว่าบริหาร

          บังกลาเทศมีส่วนปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุดเรียกว่า parishad มาจากการรวมกันของหลายหมู่บ้าน เหนือจาก parishad ขึ้นไปคือ upazila ซึ่งเทียบได้กับตำบล คำว่า parishad คือบริษัท ซึ่งในพจนานุกรมไทยแปลว่าหมู่หรือคนรวมกันเหมือนในคำว่าพุทธบริษัท ส่วนในทางธุรกิจหมายถึงห้างร้านนิติบุคคล

          คำว่า corporation ที่หมายถึงเทศบาลในภาษาเบงกาลีถ้าไม่ใช้ทับศัพท์ก็มีคำที่ใช้แทนกันได้อยู่หลายคำ อาทิ นิคม โปโรนิคม ส่วน company และ institution อาจใช้ pratisthana เขียนแบบไทยคือประดิษฐาน ภาษาไทยเราใช้ประดิษฐานเป็นคำกริยา แต่เบงกาลีใช้เป็นคำนาม หมายถึงสถาบัน เช่น เมื่อตอนที่บังกลาเทศประกาศปิดโรงเรียนเมื่อมีนาคม 2563 เพราะสถานการณ์โควิด สำนักข่าว BBC ภาคภาษาเบงกาลีพาดหัวข่าวว่า বাংলাদেশে সব শিক্ষা প্রতিষ্ঠান বন্ধ ঘোষণা (อ่านว่า บังกลาเทเศ สอบ สิกขา ประดิษฐาน บอนโด โฆษณา) แปลว่าสถาบันการศึกษาทุกแห่งในบังกลาเทศประกาศปิด (อ่านเกี่ยวกับโฆษณาได้ในตอนที่ 47 โฆษณาพาเพลิน)

          คนไทยมักใช้ประดิษฐานกับสิ่งที่เคารพบูชาหรือนับถือ เช่น พระพุทธรูป ที่สุสานหลวงในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีอาคารจัตุรมุขยอดสถูปชื่อ “เสาวภาประดิษฐาน” เป็นสถานที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงทายาทบางองค์

48.1_Hatirjheel

กรุงธากาแบ่งการปกครองเป็น Dhaka North City Corporation (DNCC) และ Dhaka South City Corporation (DSCC) สถานทูต ย่านธุรกิจ และท่าอากาศยานอยู่ใน DNCC ส่วนหน่วยงานราชการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ DSCC
ภาพโดยพนม ทองประยูร

48.2_Guava_Market

Barisal เป็นแหล่งปลูกฝรั่งและมะกอกน้ำ โดยเฉพาะที่ Pirojpur Upazila ซึ่งมีตลาดน้ำขายส่งฝรั่ง
ภาพโดยเอกอัครราชทูตมาฆวดี สุมิตรเหมาะ

......................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ