ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 7 ศาลาบัณณรศภาค

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 7 ศาลาบัณณรศภาค

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,196 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 7 ศาลาบัณณรศภาค

          วัดเบญจมบพิตรมีอาคารทรงฝรั่งอยู่หลังหนึ่งอยู่ริมรั้วด้านคลองเปรมประชากร เรียกว่าศาลาบัณณรศภาค ใช้ตั้งศพบุคคลสำคัญอยู่บ่อยครั้ง ศาลานี้สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ 15 ส่วน จากการบริจาคของพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอม และพระญาติ ในรัชกาลที่ 5 มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น สร้างเสร็จเมื่อปี 2444 ได้รับพระราชทานนามว่า “ศาลาบัณณรศภาค”

          หมายเลข 15 ในภาษาเบงกาลีคือ ปอเนโร ซึ่งน่าจะมีรากศัพท์เดียวกันกับบัณณรศหรือปัณรส เวลาเราไปทำบุญที่วัด ตอนกรวดน้ำพระจะสวดมนต์ “ยถา วารีวหา ปูราปาริปูเรนฺติ สาครํ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา ฯ....ในบทสวดมีคำว่า ปณฺณรโส หมายถึงวันขึ้น 15 ค่ำ ดังคำแปลว่า “สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริทั้งปวง จงเต็มดังพระจันทร์ ซึ่งมีในดิถีที่ 15”

          ตามธรรมเนียมไทย การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์นิยมจัดงานเมื่อครบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน และ 100 วัน การทำบุญเมื่อครบ 15 วัน เรียกว่า “ปัณรสมวาร” และเรียก “ปัญญาสมวาร” เมื่อครบ 50 วัน

          หมายเลข 50 ในภาษาเบงกาลีคือ panchas ออกเสียงว่า ปัญ-จาช เพราะสะกดด้วย ศ

          หมายเลข 100 คือ ayksho และ 100 ปี คือ ศตวรรษ เมื่อปี 2564 บังกลาเทศฉลองวันเกิดครบ 100 ปี  ของ Sheikh Mujibur Rahman ประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศหลังแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถาน ซึ่งชาวบังกลาเทศนับถือเป็นบิดาแห่งชาติ ทางการเรียกชื่องานฉลองนี้ว่า “มูจิบศตวรรษ” อาจจะฟังแปลกหูเล็กน้อยเพราะภาษาไทยไม่ใคร่ใช้ศตวรรษกับคน แต่จะใช้ชาตกาล เช่น 100 ปีแห่งชาตกาลของพุทธทาสภิกขุ

          ขอส่งท้ายเรื่องของตัวเลขด้วยคำว่า โกฏิ หรือสิบล้าน คำนี้ภาษาเบงกาลีอ่านว่า koti ตามรูปศัพท์   แต่ที่น่าสนใจคือ พอแปลเป็นอังกฤษจะนิยมใช้ว่า crore เป็นจำนวนนับที่แพร่หลายในบังกลาเทศและอินเดีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ คนต่างชาติที่อ่านข่าวจากสำนักข่าวในประเทศเหล่านี้จะพบเห็น crore เป็นประจำ และเดาไม่ถูกว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ มีศูนย์กี่ตัว เข้าใจว่า crore น่าจะเพี้ยนมาจากโกฏินั่นเอง

          จำนวนนับของเบงกาลีไม่มีหมื่นและล้าน มีร้อย (ayksho) พัน (hajar) แล้วข้ามไปแสน (lokkho หรือ lakh) และกระโดดไปสิบล้านหรือ 1 โกฏิเลย ถ้าจะพูดว่าหนึ่งหมื่น เขาใช้สิบพัน ส่วนหนึ่งล้านเรียกว่าสิบแสน ในเมื่อคนเบงกาลีคุ้นชินกับการใช้หลักแสนเป็นหน่วยอ้างอิง หลายคนจึงชอบใส่จุลภาคหลังหน่วยแสน ทำให้คนต่างชาติงงไปตามกัน เช่น 1,578,000 บาท จะเขียนว่า 15,78,000 บาท เพราะทำให้อ่านง่ายขึ้นเป็น 15 แสน (lakh) เจ็ดหมื่นแปดพัน

200614

ประชาชนจำนวนมากรอต้อนรับ Sheikh Mujibur Rahman กลับบังกลาเทศเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2515 ภายหลังปากีสถานปล่อยตัวจากเรือนจำ โดย Sheikh Mujibur Rahman เดินทางจากปากีสถานผ่านกรุงลอนดอนและกรุงนิวเดลี

 

200616

นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 17 มกราคม 2515 ลงรูป Sheikh Mujibur Rahman ที่หน้าปกในสัปดาห์หลังจากที่ Sheikh Mujibur Rahman เดินทางกลับถึงบังกลาเทศ

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ