ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 10 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 2)

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 10 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 2)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 มี.ค. 2565

| 915 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 10 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 2)

          เบงกาลีเรียกสัปดาห์ว่า saptaha มีรากศัพท์จาก sat (หมายเลข 7) และ saptam (ลำดับที่ 7) สัปตปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว 7 ชั้น ซึ่งเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราช และสมเด็จพระบรมราชกุมารี   ก็ใช้ “สัปต” ในความหมายเดียวกัน

          ภาษาเบงกาลีไม่มีชื่อเดือนตามปฏิทินสากล มีแต่ชื่อเดือนตามปฏิทินท้องถิ่น ซึ่งตั้งชื่อตามดวงดาวเหมือนการตั้งชื่อวัน (ดูตอนที่ 9) คำว่าเดือนคือ mas (มาส) ส่วนชื่อเดือนตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคมใช้ตามภาษาอังกฤษ คือ January, February, March จนถึง December แต่สะกดด้วยอักษรเบงกาลี อย่างไรก็ดี ชื่อเดือนในภาษาอังกฤษตั้งแต่กันยายนถึงธันวาคมก็มีความเชื่อมโยงกับภาษาเบงกาลีผ่านภาษาสันสกฤต เพราะ September, October, November และ December มีรากศัพท์เดียวกับสัปตม อัฐ นวม (นอ-วม) และทศม (ดะ-ชม) ที่แปลว่าที่เจ็ด แปด ที่เก้า และที่สิบ ตามลำดับ

          ปฏิทินโรมันแบบดั้งเดิมนั้นเริ่มนับเดือนแรกที่มีนาคมซึ่งเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก เดือนเจ็ดจึงเป็นกันยายนแล้วเรียงไปเรื่อย ๆ จนถึงธันวาคม ภาษาเบงกาลี ฮินดี กับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอีกหลายภาษาในยุโรปเป็นภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน จึงมีหลายคำที่มีที่มาเดียวกัน

          ส่วนภาษาไทยแม้ไม่ได้อยู่ในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แต่ได้รับอิทธิพลาจากบาลีสันสกฤต จึงพบคำที่ออกเสียงคล้ายกัน ความหมายใกล้เคียงกันกับบางคำในภาษาแถวยุโรปไปด้วย แต่ไม่ใช่ชื่อเดือนของไทยที่เป็นประดิษฐกรรมของไทยเราเองและแขกก็ไม่มีใช้ โดยเป็นผลงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา    เทวะวงศ์วโรปการ อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศผู้ทรงสนพระทัยเรื่องโหราศาสตร์ ทรงเป็นผู้คิดชื่อเดือนด้วยการใช้ชื่อราศีสมาสกับคำว่า “อาคม” สำหรับเดือนที่มี 31 วัน และ “อายน” สำหรับเดือนที่มี 30 วัน ทั้งอาคมและอายนแปลว่า การมาถึง

          ในภาษาเบงกาลี มีคำว่า agamon ที่แปลว่าการมาถึง (arrival) เหมือนในคำว่าคมนาคมของไทย ที่มาจาก คมน (การไป) และอาคม (การมา) รวมแล้วหมายถึงการเดินทางไปมา บริเวณขาเข้าของสนามบินกรุงธากามีป้ายติดอยู่ว่า International Arrivals ภาษาเบงกาลีใช้ว่า Antarjatika Agamon หรือเขียนให้เข้ากับลิ้นคนไทยได้ว่า อานตรชาติกา อาคมน ทำให้เห็นภาพเลยว่าวันเวลาก็เหมือนเครื่องบิน มาแล้วก็ไป ไม่คอยใคร พอเปลี่ยนเดือน เราได้แต่พลิกเดือนเก่าในปฏิทินให้กลับด้าน ไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรได้ พระพุทธองค์จึงมีพุทธวจนะเตือนให้เรามีสติและ “พึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่”

Airplane_1

เครื่องบินในลานจอดที่ท่าอากาศยานกรุงธากา ปัจจุบันท่าอากาศยานกำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สาม ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารทั้งหมดได้ถึง ๒๐ ล้านคน

ภาพโดยเดือนสิบ ปัทมะสุนทร คัลเลน

171248

ท่าอากาศยานกรุงธากามีชื่อทางการว่า Hazrat Shahjalal International Airport

ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ