ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 9 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 1)

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 9 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 1)

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,167 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 9 บอกวันเวลาด้วยดวงดาว (ตอนที่ 1)

          เคยสงสัยบ้างมั้ยครับว่า ทำไมการเรียกชื่อวันของโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกจึงคล้ายกัน คือ เอาดวงดาวมากำหนดเป็นชื่อวัน เช่น วันเสาร์ (Saturday) วันอาทิตย์ (Sunday) วันจันทร์ (Monday) เรื่องนี้ผู้เขียนก็ไม่อาจบอกได้ว่า ใครรับจากใคร ถ่ายทอดกันสมัยไหน ความเป็นไปได้หนึ่งคือเป็นการผสมผสานและถ่ายทอดวัฒนธรรมและภาษาระหว่างชาวอารยันในเอเชียกลางกับกองทัพมาซิโดเนียของพระเจ้า  อเล็กซานเดอร์มหาราชที่เคยบุกมาถึงทางเหนือของอินเดีย และมีนายทหารบางส่วนได้ปกครองอาณาจักรในบริเวณที่ปัจจุบันคือปากีสถานและอัฟกานิสถาน บางส่วนก็กลับบ้านที่มาซิโดเนีย ไม่ว่าจะอย่างไร ดวงดาวเป็นสิ่งที่อยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่ในยุคที่ไม่มีนาฬิกาและเข็มทิศ ต้องอาศัยตำแหน่งดวงดาวบอกทิศทางและฤดูกาล

          ทั้งไทยและเบงกาลีคงรับสืบทอดการเรียกวันมาจากวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่ใช้ภาษาสันสกฤตบางวันอาจจะใช้ชื่อต่างกันแต่หมายถึงดาวดวงเดียวกัน ดังนี้

          วันอาทิตย์ – Robibar (รวิวาร)

          วันจันทร์ – Sombar (โสมวาร)

          วันอังคาร – Mongolbar (มงคลวาร)

          วันพุธ – Budhbar (พุธวาร)

          วันพฤหัสบดี – Brihospotibar (พฤหัสบดีวาร)

          วันศุกร์ – Shukrobar (ศุกรวาร)

          วันเสาร์ – Shonibar (ศนิวาร)

          วารคือวันประจำสัปดาห์หรือหมายถึงเวลาก็ได้ ดังที่ไทยรับมาใช้ว่าวาระ ถึงเทศกาลปีใหม่ก็เขียน ส.ค.ส. ถึงกันว่า ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ขออวยพรให้ท่านประสบแต่ความสุข ส่วนคำว่าวันมีอีกคำคือ din (ทิน) คำว่าทุกวันใช้ว่า protidin ซึ่งไทยเรานำมาใช้เรียกตารางสำหรับดูวัน เดือน ปี ที่ธนาคารชอบทำแจกตอนปีใหม่ คือปฏิทินที่เรามีใช้กันทุกบ้าน หากไปเปิดพจนานุกรมหาความหมายของปฏิทิน จะพบคำอธิบายว่ามาจากภาษาสันสกฤต ปฺรติทิน ที่หมายถึงเฉพาะวันหรือสําหรับวัน

          วันอังคารและวันเสาร์ที่เบงกาลีเรียกมงคลวารและศนิวารนั้น เป็นการเรียกตามคติฮินดูที่พระอังคารมีนามว่า พระมงคล และพระเสาร์มีนามว่า พระศนิ

          ส่วนพระศุกร์เป็นเทวดานพเคราะห์ที่ตำราโหราศาสตร์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนหวาน      มีเสน่ห์ และมักมากในกาม เทียบได้กับวีนัสของโรมัน อย่างนี้เองภาษาเบงกาลีจึงมีคำว่า sukranu มาจาก ศุกร์ + อณู กลายเป็นศุกราณู แปลว่าสเปิร์ม อณูแห่งความรัก

Sunset

ท้องฟ้าเป็นสีส้มยามพระอาทิตย์ตกที่กรุงธากา มนุษย์ใช้พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวเป็นนาฬิกาธรรมชาติสำหรับกำหนดวันเวลา ทิศทาง และฤดูกาลมาแต่โบราณ

ภาพโดยศิวพล กิตติวงศากูล

................................................

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ