ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 19 ร่างกายของเรา

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 19 ร่างกายของเรา

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ค. 2565

| 1,162 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 19  ร่างกายของเรา

          ราชาศัพท์หรือศัพท์ทางการแพทย์สำหรับเรียกอวัยวะส่วนใหญ่เป็นคำบาลีสันสกฤต แต่ในภาษาเบงกาลีใช้ในชีวิตประจำวัน ร่างกายคือ sarira (สรีระ) ทำเป็นคำวิเศษณ์กลายเป็น saririk (สรีริก) เช่นพระบรมสารีริกธาตุ คือกระดูกร่างกายของพระพุทธเจ้า

          Mukh แปลว่าหน้าหรือปาก ภาษาไทยใช้เรียกส่วนที่ยื่นเด่นออกมาด้านหน้าอาคาร มุขเด็จคือโถงที่ยื่นออกมาหน้าอาคารที่เป็นพระที่นั่ง เป็นที่เสด็จออกของพระมหากษัตริย์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า portico เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบในปี 2554 ได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนที่พระราชวังสนามจันทร์มีพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ลักษณะเป็นศาลาโถงชั้นเดียวเหมือนท้องพระโรง สอดคล้องกับชื่อพระที่นั่งว่าเป็นสถานที่ที่ขุนนางพรั่งพร้อม (หน้า) กันเข้าเฝ้า ฯ

          เรือไกรสรมุขในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยอยุธยาเป็นเรือที่มีโขนเรือหรือหัวเรือรูปราชสีห์ วรรณคดีมุขปาฐะคือเรื่องราวที่เล่ากันปากต่อปาก ไม่ได้จดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

          ส่วนมุกตลกนั้น สะกดด้วย ก ไก่ ไม่เกี่ยวอะไรกับมุขในที่นี้

          เบงกาลีเรียกตาว่า caksu อ่านว่าจักขุ อย่างที่เราเรียกหมอตาว่าจักษุแพทย์ คำนี้รูปศัพท์สะกดจักษุแต่อ่านจักขุเพราะตัว ก กับ ษ เขียนติดกันแบบพยัญชนะซ้อน และกฎเขามีอยู่ว่า ก กับ ษ ซ้อนกันให้ออกเสียงเป็น ก กับ ข จักษุจึงกลายเป็นจักขุ โปรดอย่าถามว่าทำไมเพราะผู้เขียนก็ไม่รู้จะถามใคร จะว่าเสียง ก กับ ษ ออกเสียงยากก็ไม่น่าใช่ คนไทยเราอ่านได้สบายมาก เพราะคำบาลีสันสกฤตส่วนใหญ่ที่เรายืมมาใช้และมีเสียง กษ เราอ่านตามรูปที่เขียนทั้งนั้น เช่น เราใช้ศึกษามากกว่าสิกขา นักษัตรมากกว่านักขัตร และใช้ทักษิณ ไม่ใช่ทักขิณ

          นิ้วคือ anula หรือ anguli (องคุลี) ไทยใช้เป็นราชาศัพท์ หมายถึงนิ้วมือและนิ้วเท้า รวมทั้งใช้เป็นมาตราวัดแบบโบราณด้วย คือยาวเท่ากับข้อปลายของนิ้วกลาง นามของพระองคุลิมาลมาจากการที่ท่านถูกศิษย์ร่วมสำนักอิจฉาริษยา และยุยงให้อาจารย์เชื่อว่าท่านจะปองร้ายเจ้าสำนัก ทำให้อาจารย์คิดจะกำจัดโดยออกอุบายว่า หากต้องการสำเร็จวิชาจะต้องฆ่าคน 1,000 คน องคุลิมาลจึงเข่นฆ่าผู้คนแล้วตัดนิ้วหัวแม่มือมาคล้องคอเพื่อให้จำได้ว่าฆ่าไปกี่คนแล้ว จนกระทั่งพบพระพุทธเจ้าเป็นคนที่ 1,000 พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนจนองคุลิมาลออกบวชเป็นพุทธสาวก องคุลิมาลแปลว่า ผู้มีนิ้วเป็นมาลัย มิใช่มารร้ายสะกดด้วย ร เรือ อย่างที่อาจจะมีผู้สับสน

          ครรภ์ที่หมายถึงท้องของหญิงที่มีลูกอยู่ในท้อง ภาษาเบงกาลีคือคำว่า ghorbo ความเป็นแม่ (maternity) หรือการมีครรภ์ใช้คำว่าประสูติ และสูตินรีเวชวิทยา (obstetrics and gynaecology) คือสตรีโรคพิทยา

          หากใครแวะมาบังกลาเทศแล้วไม่สบายต้องการไปหาหมอ ให้บอกได้เลยว่าขอไป hospital เพราะเป็นคำทับศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายและติดปากมากกว่าคำเบงกาลี baidyasala (แพทยศาลา) และถ้าต้องแอดมิทนอนให้หมอรักษา เราจะกลายเป็นโรคี (rogi) ซึ่งหมายถึงคนป่วย

221229

คำว่า “มาลัย” มีใช้ทั้งในภาษาไทยและเบงกาลี หมายถึงดอกไม้ที่นำมาร้อยเป็นพวง พวงมาลัยที่มีขายในบังกลาเทศมักร้อยด้วยดาวเรืองหรือดอกพุด ส่วนคำว่า “มาลี” ในภาษาเบงกาลีแปลว่าคนสวน
ภาพโดยอิศเรศ แก้วเคลิ้ม พนักงานสถานเอกอัครราชทูต

221230

ภาษาเบงกาลีมีอีกคำที่ออกเสียงคล้ายกับมาลัยคือ “มาลาย” ทำจากนมที่ต้มแล้วปล่อยให้เย็นจนมีไขจับตัวเป็นก้อนที่ด้านบน แล้วจึงนำส่วนดังกล่าวไปทำขนม แหล่งผลิตขนมรอช-มาลาย (Rasmalai) ที่มีชื่อเสียงคือเขต Cumilla ในภาคจิตตะกอง
ภาพโดยบุศรา แสดงฤทธิ์

221231

สถาบัน icddr,b เป็นสถาบันวิจัยเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงซึ่งแพร่ระบาดในภูมิภาคนี้ ก่อตั้งเมื่อปี 2503 โดยองค์กร SEATO เช่นเดียวกับสถาบัน AIT ในไทย ศ.นพ. John Clemens อดีตผู้อำนวยการบริหารสถาบัน icddr,b ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเมื่อปี 2562 สถานเอกอัครราชทูตได้รับฟังบรรยายสรุปจากสถาบันและจัดกิจกรรมจิตอาสาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยนำชุด PPE ไปมอบให้ใช้ประโยชน์
ภาพโดยเดือนสิบ ปัทมะสุนทร คัลเลน

................................................