ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 20 คัมภีร์ราชนีติ

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 20 คัมภีร์ราชนีติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ค. 2565

| 808 view

ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ 20  คัมภีร์ราชนีติ

          จุดเด่นของการเมืองบังกลาเทศคือ ผู้หญิงมีโอกาสได้แสดงบทบาทนำอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2534 ถึงปัจจุบัน บังกลาเทศมีนายกรัฐมนตรีเพียง 2 คนเท่านั้น และเป็นผู้หญิงทั้งคู่ ได้แก่ Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์บังกลาเทศ นับถึงปีนี้ก็ 18 ปีกว่า   อีกคนหนึ่งคือ นาง Khaleda Zia ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อน ส่วนในรัฐสภาบังกลาเทศซึ่งมี ส.ส. ทั้งหมด 350 คน รัฐธรรมนูญกำหนดโควตาให้เป็น ส.ส. สตรี 50 คน

          ภาษาเบงกาลีเรียกการเมืองว่า ราชนีติ (rajaniti) อินเดียมีคัมภีร์โบราณเล่มหนึ่งชื่อคัมภีร์ราชนีติ       มีเนื้อหาว่าด้วยหลักในการบริหารและปกครองแผ่นดินของพระราชา เช่น คุณสมบัติและหน้าที่ของพระราชาการบริหารงานบุคคลและการคลัง และกลยุทธในการเอาชนะศัตรู คำว่า “นีติ” แปลว่า ความประพฤติ หรือแบบแผน ผู้รู้จึงแปลราชนีติว่าความประพฤติของรัฐ เหมือนตำรา how to ว่ารัฐควรทำตัวอย่างไรให้ไพร่ฟ้าหน้าใส สมัยก่อนพระราชามีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองบ้านเมือง ราชกับรัฐจึงมาแบบทูอินวัน สองคนในร่างเดียว ราชาว่ายังไง รัฐก็พยักหน้าว่าตามนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงบอกว่า L’etat c’est moi ข้านี่แหละคือรัฐ (คำว่า state ที่หมายถึงรัฐ ภาษาเบงกาลีสะกด rajya หรือราชย์ ภาษาไทยใช้ในคำว่าครองราชย์ คือ ครองแผ่นดิน)

          หากบริหารงานแบบฉ้อราษฎร์บังหลวงเอาประโยชน์ส่วนรวมไปเป็นของส่วนตัว แบบนี้เบงกาลีเรียกว่า “ทุรนีติ” สำนักงาน ป.ป.ช. ของบังกลาเทศจึงชื่อ দুর্নীতি দমন কমিশন (ทุรนีติ ทมน คอมมิสชัน)

          นีติกับนิติเป็นคำเดียวกัน นิติศาสตร์เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งเป็นแบบแผนความประพฤติที่ประชาชน  พึงปฏิบัติ แต่สำหรับชื่อคัมภีร์ราชนีติ สะกดด้วยสระอี นักการเมืองในภาษาเบงกาลีคือ rajanitibid ส่วนศัพท์แสง ที่เกี่ยวกับกฎหมาย เบงกาลีไม่มีคำว่านิติเลย กฎหมายคือ aina (อ่านว่า อาย์น) ถูกกฎหมายคือ aini รัฐธรรมนูญคือ sambidhan (อ่านว่า สัง-บิ-ทาน หรือถอดเป็นอักษรไทยได้ว่าสังวิธาน) แปลว่าการจัดทำร่วมกัน เพราะเป็นกฎหมายที่ประชาชนช่วยกันร่าง คำนี้อินเดียใช้ก่อนโดยบัญญัติศัพท์จากสันสกฤต

          คำว่าปกครอง ภาษาเบงกาลีใช้อยู่หลายคำ หนึ่งในนั้นคือ shasana แปลเป็นอังกฤษได้ว่า rule หรือ regime ในภาษาไทยคือ ประศาสน์ หมายถึงการปกครอง สันสกฤตต้นกำเนิดใช้ ปรศาสน คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ มีภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ แปลจากอังกฤษว่า public administration คือการบริหารในองค์กรของรัฐ คนนอกคณะไม่ค่อยเข้าใจว่าเรียนอะไรกัน นึกว่าเกี่ยวกับอาการทางประสาท ๆ ฝั่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์มีภาควิชาเดียวกัน แต่ชื่อบริหารรัฐกิจ ซึ่งคนทั่วไปน่าจะร้อง “อ๋อ” ได้ง่ายกว่า

225166

นาง Sheikh Hasina ลูกสาวของนาย Sheikh Mujibur Rahman ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชให้บังกลาเทศได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมาแล้ว 4 สมัยจนถึงปัจจุบัน โปสเตอร์ในภาพเป็นการประชาสัมพันธ์การเฉลิมฉลองวันเอกราช (26 มีนาคม)
ภาพโดยพนม ทองประยูร

ป้ายหาเสียง_1

ผู้สมัครเลือกตั้งในบังกลาเทศไม่มีหมายเลขประจำตัว แต่ใช้สิ่งของเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียงและกากบาทในบัตรเลือกตั้ง เช่น โปสเตอร์หาเสียงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ Madhupur ในภาพนี้ใช้รูปช้างกับมะม่วงแทนหมายเลขผู้สมัคร
ภาพโดยกุสุมา สารีบุญฤทธิ์

.........................................................